วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หน่วยการเรียนรู้ที่ 4

วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา


วันวิสาขบูชา

1. การรำลึกถึงพุทธคุณ หรือความกตัญญู
จุดมุ่งหมายของการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา ก็เพื่อรำลึกถึงพุทธคุณ คือ พระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณและพระวิสุทธิคุณ เราสามารถนำเอาหลักพระพุทธคุณ 3 มาเป็นแนวปฏิบัติ กล่าวโดยสรุปก็คือ
1) พระปัญญาคุณ แนวคิดจากพระปัญญาคุณสอนเราว่า เราจะต้องมีปัญญาความรู้ ความสามารถที่จะรับผิดชอบตัวเอง ดำเนินชีวิตและกิจการให้สำเร็จ แก้ปัญหาได้ และรู้จักวิเคราะห์เรื่องราวให้จะแจ้งลึกซึ้งถึงความจริง

 2) พระกรุณาคุณ พระกรุณาคุณสอนเราว่า เราจะต้องมีเมตตากรุณาในการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่น วางใจเป็นมิตร มุ่งหวังประโยชน์สุขแก่เขา และทำประโยชน์แก่สังคม

 3. พระวิสุทธิคุณ พระวิสุทธิคุณสอนเราว่า ตัวเราเองจะต้องสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากปัญหา มีจิตใจปลอดโปร่ง ทำจิตใจให้เป็นอิสระเบิกบาน ผ่องใส ไร้ทุกข์ได้ด้วยตนเอง และมีความบริสุทธิ์ใจ ตั้งใจจริงเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อสันติสุข มุ่งสู่ความจริงแท้นี่คือการนำเอาหลักพุทธคุณมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเฉพาะการนำเอาหลักพระพุทธคุณ 3 มาใช้ก็สามารถดำเนินชีวิตที่ดีอยู่ในสังคมได้และช่วยเหลือสังคมได้ดี นี่คือการรำลึกถึงพุทธคุณและการแสดงความกตัญญูต่อพระพุทธเจ้าที่ดีที่สุด

ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อนเป็นคุณธรรมคู่กับ ความกตเวที คือการตอบแทนผู้มีอุปการคุณ ผู้ที่ทำอุปการคุณก่อนเรียกว่า ปุพพการี เช่น บิดามารดา และครูอาจารย์

ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัวและสังคมมีความสุขได้ นั่นคือบิดามารดาจะ
รู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน เช่น เป็นผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้ละเว้นความชั่วประกอบกรรมดี หาคู่ครองที่เหมาะสมและมอบทรัพย์สมบัติให้ ส่วนบุตร ธิดา ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการทำดีตอบแทน สำหรับครูอาจารย์ก็รู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการอุปการคุณคือ สอนศิลปวิทยาอย่างเต็มที่ และศิษย์ก็จะรู้จักหน้าที่ของตนเอง ด้วยการตั้งใจเรียนและให้ความเคารพเป็นการตอบแทน


ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นปุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาและทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่สัตว์
โลกทั้งหลาย พุทธศาสนิกชน รู้พระคุณอันนี้ จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชา (บูชาด้วยสิ่งของ) และปฏิบัติบูชา (ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดี) กล่าวคือการจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชา เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออก ซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุง ส่งเสริมพระพุทธศาสนา และประพฤติปฏิบัติตามหลักพุทธคุณ 3 ประการ รวมทั้งสามารถประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมอื่น ๆเพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป 

2. อริยสัจ 4 การปฏิบัติตามหลักอริยสัจ 4 คือแนวทางในการแก้ไขปัญหาของมนุษย์ ด้วยสติปัญญาของมนุษย์เอง นั่นคือไม่มีใคร
สามารถแก้ปัญหาของตนเองได้ดีเท่าตัวของเราเอง ดังนั้นมนุษย์จึงไม่ควรบนบานสารกล่าว บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายให้มาช่วยเหลือ 
มนุษย์มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้า เป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนเองได้สูงสุด แม้แต่เทพ เทวดา ทั้งหลายก็มานอบน้อมสรรเสริญ พระพุทธเจ้าจึงเป็นตัวอย่างของมนุษย์ทั้งหลายที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุดแล้ว

3. ความไม่ประมาท 
ความไม่ประมาท คือ การมีสติทั้งขณะทำ ขณะพูด และขณะคิด 
สติ คือ การระลึกรู้เท่าทันที่คิด ที่พูด และที่ทำ ในภาคปฏิบัติเพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวันก็คือ การระลึกรู้เท่าทันการเคลื่อน
ไหวอิริยาบถ 4 คือ การเดิน ยืน นั่ง และนอน
การฝึกให้เกิดสติ ทำได้โดยตั้งสติกำหนดการเคลื่อนไหวอิริยาบถ กล่าวคือ ระลึกรู้ทันทั้งในขณะยืน เดิน นั่ง และนอน รวมทั้งระลึกรู้ทันในขณะพูด ขณะคิด และขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้น
วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 แต่ถ้าเป็นปีที่มีอธิกมาส จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน
เนื้อหาของพระธรรมเทศนาที่แสดงในวันนี้เกี่ยวกับการทำตนให้สุดโต่ง 2 ประการ ที่ไม่ควรประพฤติปฏิบัติคือ

1. อัตตกิลมถานุโยค คือ การทำตนให้ลำบากเปล่า คือ ความพยายามเพื่อบรรลุผลที่มุ่งหมายด้วยวิธีทรมานตนเองให้ได้รับ
ความลำบากต่าง ๆ

 2. กามสุขัลลิกานุโยค คือ การทำตนให้พัวพันหมกมุ่นอยู่ในกามสุขในสังคมอินเดียสมัยโบราณเชื่อว่า นิพพาน หรือนิโรธ เป็นความสุขที่ต้องมุ่งแสวงหา เพราะถือว่าเป็นความสุขสงบที่เป็นอมต ไม่ผันแปร
ในการแสวงหานั้น มีหลักความเชื่ออยู่ 2 อย่าง คือ ความเชื่อที่ว่า การจะบรรลุนิพพานได้นั้น ด้วยการทรมานตนเองให้ลำบาก
กับความเชื่อที่ว่า การจะบรรลุถึงนิพพานนั้น ได้ด้วยการทำตนเองให้พร้อมพรั่งด้วยสิ่งอำนวยความสุข เมื่อเกิดความเชื่อเช่นนั้น จึงทำ
ให้เกิดการปฏิบัติต่าง ๆ ติดตามมา ผู้ที่เชื่อว่าการบรรลุนิพพาน ด้วยการทรมานตนเองให้ลำบาก จึงได้ทรมานตนเองด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นอดอาหารจนร่างกายซูบผอม นอนบนหนาม เอาขี้เถ้าทาตัวและไม่อาบน้ำ เป็นต้น ส่วนผู้ที่เชื่อว่า การบรรลุนิพพานด้วยการทำตนเองให้พร้อมพรั่งด้วยสิ่งอำนวยความสุขต่าง ๆ ก็ได้แสวงหา สะสมและหมกมุ่นอยู่กับการเสพสุข แล้วในที่สุดคามเชื่อ 2 อย่างนั้นก็ไม่ได้บรรลุนิพพานอย่างที่หวังไว้เพราะฝ่ายแรกตึงเกินไป และฝ่ายหลักหย่อนเกินไป เพราะเริ่มต้นมาจากการปฏิบัติผิดนั่นเอง



 พระพุทธเจ้า ก่อนตรัสรู้ทรงปฏิบัติตามข้อปฏิบัติมาแล้วครั้นทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางหรือข้อปฏิบัติให้ได้บรรลุนิพพาน จึงทรงแสวงหาทางสายใหม่ ในที่สุดก็ทรงพบว่าอริยมรรค อันประกอบด้วยองค์ 8 คือ

1. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ
3. สัมมาวาจา การเจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ การทำงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
7. สัมมาสติ ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ


 เป็นทางสายกลางที่ดีที่สุด แล้วทรงปฏิบัติตามทางสายกลางนั้น ไม่ช้าก็ได้บรรลุนิพพาน

ทางสายกลางนั้น เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วคิดหาทางไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ ซึ่งก็พบว่าต้องเริ่มต้นด้วยการทำจิตให้สงบไม่เอนเอียงไปทางข้างตึงหรือข้างหย่อน โดยอาศัยการฝึกสติเป็นตัวนำพร้อมทั้งเพียรระวังไม่ให้ความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เพียรละให้ได้ในขณะเดียวกันก็เพียรให้เกิดความคิดที่ดีและเพียรรักษาความคิดที่ดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และพบต่อไปว่าจิตสงบแล้วพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งทางกายและวาจาก็สงบด้วย เมื่อสงบครบทั้งกาย วาจาและใจแล้วก็ได้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน 

ในวิถีชีวิตของปุถุชนนั้น ย่อมมีความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต ความสำเร็จย่อมแตกต่างกันไปตามความปรารถนาของแต่ละคน บางคนปรารถนาความร่ำรวยเป็นความสำเร็จบางคนปรารถนาความมีชื่อเสียงเป็นความสำเร็จ

ความร่ำรวย และความมีชื่อเสียง มีองค์ประกอบให้ถึงความสำเร็จได้ 2 ส่วน ส่วนแรกเกิดจากผู้ปรารถนาเอง และส่วนที่ 2เกิดจากสิ่งแวดล้อมสนับสนุน อันอาจได้แก่ บุคคล กาละและเทศะผู้ปรารถนาต้องทำให้เกิดความพอดีระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุน

ความพอดีส่วนตนนั้น ก็เริ่มจากทำความเข้าใจความสำเร็จให้ชัดเจนว่าคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหนแล้วคิดหาทางไปสู่ความสำเร็จนั้นได้อย่างไร เมื่อพบทางแล้ว ก็ประคับประคองความคิดนั้นให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในลักษณะไม่เคร่งเครียดจนกร้าว และปล่อยเฉยจน
เฉื่อยชา ในขณะเดียวกันก็ประคับประคองการแสดงออกทั้งทางกายและวาจา ให้สอดคล้องกับความคิด จนเข้าได้กับบุคคลกาละและเทศะ อย่างไม่เสียหลักธรรม

ความพอดีดังกล่าว เรียกได้ว่า “ทางสายกลาง” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติส่วนตน ส่วนที่เกี่ยวกับส่วนรวมก็มีทางนำมาประยุกต์ใช้ได้คืองานของหมู่คณะ จะสำเร็จได้ก็ด้วยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถือทางสายกลาง ก็ย่อมทำให้งานดำเนินไปได้ด้วยดีแม้จะไม่ราบรื่นและไม่เรียบร้อยในตอนแรกแต่ด้วยอาศัยการทำงบานแบบทาบงสายกลาง ก็จะทำให้เกิดความคิด การกระทำและคำพูดที่พอดีต่อกัน ในกลุ่มผู้ร่วมงาน ซึ่งในที่สุดก็ยอมรับกันได้ไม่เกิดการแบ่งฝ่ายซึ่งทำให้เกิดอุปสรรค

วันมาฆบูชา
หลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ ได้แก่ โอวาทปาฏิโมกข์ หมายถึงหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา อันเป็นไปเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น คือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่พระอรหันต์สาวก
1,250 รูป ณ วัดเวฬุวัน ในวันเพ็ญเดือน 3 มีเนื้อหา แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 ดังนี้คือ




หลักการ 3
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ได้แก่การงดเว้น การลด ละ เลิก ทำบาปทั้งปวง ซึ่งได้แก่อกุศลกรรมบถ 10 คือ ทางแห่งความชั่ว 10 ประการ อันเป็นความชั่วทางกาย 3 ประการ ได้แก่ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม ทางวาจา 4ประการ ได้แก่การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ การพูดเพ้อเจ้อ และทางใจ 3 ประการ ได้แก่ การอยากได้สมบัติของผู้อื่นการผูกพยาบาทและความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม

2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง ซึ่งได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 อันเป็นแบบของการทำฝ่ายดี 10 ประการ คือความดีทางกาย 3 ประการ ได้แก่ การไม่ฆ่าสัตว์ มีแต่ช่วยเหลือเกื้อกูล การไม่ถือเอาสิ่งของของผู้อื่น มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการไม่ประพฤติผิดในกาม มีความซื่อสัตย์ การทำความดีทางวาจา 4 ประการ ได้แก่การไม่พูดเท็จ พูดแต่ความจริง การไม่พูดส่อเสียด พูดแต่คำที่ก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน การไม่พูดคำหยาบ พูดแต่คำอ่อนหวาน และไม่พูดเพ้อเจ้อ พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และถูกกาละเทศะ และการทำความดีทางใจ ได้แก่ การไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น มีแต่คิดเสียสละ ไม่ผูกพยาบาทอาฆาตจองเวรกัน มีแต่คิดเมตตาและปรารถนาดีต่อกัน และมีความเห็นความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

3. การทำจิตให้ผ่องใส ได้แก่ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ คือ ความพอใจในกาม ความพยาบาทอาฆาต ความหดหู่ท้อถอย การฟุ้งซ่าน รำคาญ และความลังเลสงสัยไม่แน่ใจ ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิต ไม่ให้เข้าถึงความสงบ

วิธีทำจิตให้ผ่องใส ที่แท้จริงเกิดขึ้นจากการละบาปทั้งปวง ด้วยการถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนได้บรรลุอรหัตผลอันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง



อุดมการณ์ 4 

1. ความอดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา และใจ
2. ความไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวน หรือเบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา และใจ
4. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นได้จากการดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์ 8



วิธีการ 6

1. ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้าย หรือกล่าวโจมตีผู้อื่น
2. ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น
3. สำรวมปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา รวมทั้งขนมธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
4. รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหาร การใช้จ่ายหรือใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบ มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิต ให้สงบ มีสุขภาพจิตที่ดี มีจิตที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ หรือมีเกราะป้องกันจิต


วันสำคัญธรรมสวนะ
วันธรรมสวนะ
หลักธรรมสำคัญที่ชาวพุทธทุกคนควรนำไปปฏิบัติในวันธรรมสวนะนี้มี 3 ประการ คือ

1. ทาน หมายถึง การให้ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ อามิสทาน ได้แก่ การให้ปันสิ่งของ เสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย ธรรมทาน ได้แก่ ให้ความรู้ วิทยาการ ให้คำแนะนำสั่งสอน ให้คำปรึกษาคำชี้แนะ และให้ขวัญกำลังใจ เป็นต้น และอภัยทาน ได้แก่ การให้อภัยกัน หรือการอโหสิกรรม

 2. ศีล
 หมายถึง การรักษากาย วาจา ให้เรียบร้อย ด้วยการรักษาศีล 5 และการมีระเบียบวินัยและการเคารพกฎกติกาของสังคม

 3. ภาวนา 
หมายถึง การฝึกสมาธิให้จิตสงบและพัฒนาปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนา นอกจากนี้ ภาวนายังหมายถึง การทำวัตรสวดมนต์และการฟังธรรม การเจริญจิตภาวนา อบรมจิตใจให้สงบเยือกเย็น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่เครียด ไม่กังวล มีชีวิตอยู่ด้วยปิติสุข และมีสมาธิแน่วแน่ หนักแน่น อันจะช่วยให้หลับสนิท ความคิดแจ่มใส ความจำดีและมีสติปัญญาเฉียบแหลม

หลักธรรมทั้ง 3 ประการนี้ เป็นหลักธรรมที่พุทธศาสนิกชนจะน้อมนำมาปฏิบัติทุก ๆ วันธรรมสวนะ อย่างไรก็ตามหลักธรรมทั้ง 3 นี้
ไม่จำเป็นจะต้องปฏิบัติเฉพาะในวันธรรมสวนะ พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในทุกเวลาทุกโอกาสที่อำนวย ในวันเวลาไหนก็ได้ซึ่งถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติที่ดี บุคคลใดปฏิบัติผลก็ตกแก่บุคคลนั้น ปฏิบัติแทนกันไม่ได้ การปฏิบัติตามหลักธรรม 3 ประการนี้จะก่อให้เกิดการดำเนินได้อย่างมีความสุข ก่อให้ตนเองสงบสุขและส่งผลให้สังคมสันติสุขไปด้วย


วันเข้าพรรษา
ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษานั้น พุทธศาสนิกชนนิยมไปวัด ถวายทาน รักษาศีล ฟังธรรมและเจริญจิตภาวนา ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่ว บำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น หลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปเป็นแนวปฏิบัติในวันเข้าพรรษาคือ “วิรัติ 3”

คำว่า วิรัติ หมายถึง การงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป จำแนกออกเป็น 3 ประการคือ

1. สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป (โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่มิได้สมาทานศีลไว้เลยเมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ยอมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา เป็นต้น

2. สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์โดยเพียรพยายามระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหว หรือเอนเอียง

3. สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาดโดยตรงเป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้น สมุจเฉทวิรัติ อาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก

การปฏิบัติตามหลักของการงดเว้น (วิรัติ) นั้นหากบุคคลปฏิบัติตามหลักของสมุจเฉทวิรัติ นั่นคือการงดเว้นจากบาป และอบายมุขได้อย่างเด็ดขาด ไม่จำเป็นจะต้องงดเว้นได้เฉพาะในช่วงเข้าพรรษา แต่สามารถงดเว้นได้ตลอดชีวิต จะก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าในชีวิต มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างสงบสุข และส่งผลต่อสังคมสงบสุขไปด้วย

วันออกพรรษา

 ในเทศกาลออกพรรษานี้ มีหลักธรรมสำคัญที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ ปวารณา
ปวารณา ได้แก่ การเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าวตักเตือนตนเองได้ ในการปวารณานี้ อาจแบ่งบุคคลออกเป็น 2 ฝ่ายคือ

1. ผู้ว่ากล่าวตักเตือน จะต้องเป็นผู้มีเมตตา ปรารถนาดีต่อผู้ที่ตนว่ากล่าวตักเตือน เรียกว่ามีเมตตาทางกาย ทางวาจา และทางใจ
2. ผู้ถูกว่ากล่าวตักเตือน ต้องมีใจกว้าง มองเห็นความปรารถนาดีของผู้ตักเตือน ดีใจดังมีผู้มาบอกขุมทรัพย์ให้

การปวารณานี้ จึงเป็นคุณธรรมสร้างความสมัครสมานสามัคคีและดำรงความบริสุทธิ์หมดจดไว้ในสังคมพระสงฆ์ การปวารณา แม้
จะเป็นสังฆกรรมของสงฆ์ ก็อาจนำมาประยุกต์ใช้กับสังคมชาวบ้านได้ด้วย เช่น การปวารณากันระหว่างสมาชิกในครอบครัวในสถาน
ศึกษา ในสถานที่ทำงาน พนักงานในห้างร้าน บริษัทและหน่วยงานราชการ เป็นต้น

ตัวอย่างการปวารณาในสถานศึกษา เช่น ครูมีการว่ากล่าวตักเตือนนักเรียนที่ประพฤติผิด ครูต้องว่ากล่าวตักเตือนนักเรียนที่
ประกอบไปด้วยการกระทำที่เมตตา เช่น ลงโทษนักเรียนไม่ประกอบไปด้วยความโกรธ หรือรุนแรงเกินเหตุ ด้วยวาจาที่เมตตา คือว่ากล่าวตักเตือนด้วยคำพูดอ่อนโยน ไม่ประกอบด้วยความโกรธ ความฉุนเฉียว ไม่ตะโกนด่า ไม่กล่าวคำหยาบคาย เป็นต้น และประกอบด้วยใจที่เมตตา คือ ไม่คิดพยาบาทอาฆาตจองเวรนักเรียนเรียน ไม่กลั่นแกล้งนักเรียน เป็นต้น



วันเทโวโรหณะ
ประเพณีการตักบาตรเทโวโรหณะ นับว่าเป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนาอันเป็นพิธีมงคลที่สมควรอนุรักษ์ไว้ เพราะประเพณีนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนิกชนยังมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาไม่เสื่อมคลายแล้ว ยังแสดงถึงคุณค่าและหลักธรรมในด้านต่าง ๆ กล่าวคือ

1. ด้านจิตใจ จากตำนานความเป็นมาของการตักบาตรเทโว ที่กล่าวว่า พระพุทธองค์ทรงระลึกถึงพระคุณของพระราชชนนี จึง
เสด็จไปเทวโลกเพื่อแสดงธรรมให้พระราชชนนีบรรลุโลกุตรธรรม แสดงให้เห็นถึงความ “กตัญญูกตเวที”ที่ลูกพึงมีต่อพ่อแม่ แม้แม่จะไม่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูเพราะสิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่พระพุทธองค์ประสูติได้เพียง 7 วันแต่พระคุณของแม่ผู้ให้กำเนิดให้ชีวิตย่อมยิ่งใหญ่ให้ระลึกถึงผู้ที่มาทำบุญตักบาตรเทโวในวันนี้ก็ยิ่งรู้และซาบซึ้งในตำนานนี้ดี และควรปฏิบัติต่อบิดามารดาอย่างไรเป็นการตอบแทนพระคุณ

2. ด้านความสามัคคี ประชาชนจำนวนมากมากจากที่ต่าง ๆ มากระทำพิธีตักบาตรร่วมกันแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจ
เดียวกัน ในอันที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา มีความสมัครสมานสามัคคีกันระหว่างบ้านกับวัด

 3. ด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา การที่ประชาชนยังยึดมั่นในประเพณีและปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
เช่นนี้ นับว่าเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยตรง และถือว่าเป็นการทำบำรุงพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาด้วย

 4. ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยพระสงฆ์ได้ปฏิบัติศาสนกิจตามหน้าที่ของสงฆ์โดยการแผ่เมตตา โปรดสัตว์ ได้แสดง
พระธรรมเทศนาสั่งสอนให้ประชาชนกระทำความดี การปฏิบัติต่าง ๆ จึงถือว่าพระสงฆ์ได้มีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยตรง

งานพิธี คุณค่าและประโยชน์


พิธีกรรม
ความหมายของพิธีกรรม 
พิธีกรรม คือ การกระทำที่คนเราสมมติขึ้น เป็นขั้นเป็นตอน มีระเบียบวิธี เพื่อให้เป็นสื่อหรือหนทางที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังไว้ ซึ่งทำให้เกิดความสบายใจ และมีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เช่น พิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา มีพุทธบริษัทเป็นผู้ร่วมประกอบพิธี โดยแฝงปรัชญาธรรมไว้เป็นหลักการของพิธีกรรมนั้นด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้คนเข้าใจหลักธรรมโดยไม่รู้ตัว ดังจะเห็นได้จากพิธีทำบุญงานศพ ก็จะมีหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา

ความสำคัญของพิธีกรรม 

 1. เป็นสื่อสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นจริง เช่น การกราบ การไหว้ การคำนับ เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความรู้สึกของผู้กระทำว่า มีความ
เคารพนับถือ นอบน้อม ยำเกรง เป็นต้น ต่อสิ่งหรือบุคคลนั้น

 2. เน้นเรื่องจิตใจเป็นสำคัญ คือจุดมุ่งหมายใหญ่ ทำเพื่อให้เกิดความสบายใจ เกิดกำลังใจ สาเหตุที่ทำเพราะเกิดความเชื่อในอำนาจสิ่งเหนือธรรมชาติที่ใจเท่านั้นสัมผัสได้ การประกอบพิธีกรรมนั้นมีความหวังว่า สิ่งเหล่านั้นจะทำให้สมหวังได้


บทสวดมนต์ของนักเรียน
ความสำคัญของบทสวดมนต์นักเรียน 

การไหว้พระสวดมนต์ของนักเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการส่งเสริมจริยศึกษาแก่นักเรียนที่เป็นพุทธศาสนิกชน เพื่อส่งเสริมศีลธรรม จรรยามารยาทและฝึกอบรมให้นักเรียนมีจิตใจและนิสัยอันดีงาม ประพฤติตนในทางที่ดีที่ชอบ ฉะนั้น การสวดมนต์ไหว้พระทุกครั้ง จึงให้ครู อาจารย์ทุกคนเข้าร่วมสวดมนต์ไหว้พระโดยพร้อมเพรียงกัน

คุณค่าและประโยชน์ของบทสวดมนต์นักเรียน


บทสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน ทั้งแบบไหว้พระประจำวัน และประจำสัปดาห์ ก็เพื่อให้นักเรียนได้รำลึกถึง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ซึ่งจะทำให้นักเรียนเกิดความซาบซึ้งในพระรัตนตรัย ประพฤติปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี มีศีลธรรมประจำใจ

นอกจากนั้น บทสวดมนต์ของนักเรียน ยังมีบทสวดเคารพคุณมารดาบิดา บทเคารพครูอาจารย์ เป็นต้นอีกด้วย ทั้งนี้ ก็เพื่อให้นักเรียนได้บำเพ็ญคุณธรรม กล่าวคือความกตัญญูรู้คุณ ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นคนดีตามหลักพุทธศาสนา คือผู้ที่แสดงพฤติกรรมออกมาว่า รู้จักและซาบซึ้งในบุญคุณที่บิดามารดา ครูอาจารย์ทำไว้แต่ก่อนแล้วพยายามตอบแทนด้วยการประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นคนดี บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

งานพิธี

ประเภทของงานพิธี



ประเทศไทย คนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา เพราะฉะนั้นงานพิธีต่างๆ จึงมีศาสนพิธีหรือพิธีทางพระพุทธศาสนาประกอบอยู่ด้วย และงานพิธีบางอย่างก็เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ และเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หากจะจัดประเภทของงานพิธีแล้ว สามารถจัดได้ดังนี้

 1. งานพิธีทั่วไป หรือที่เรียกว่า ศาสนพิธี ได้แก่ 
(1)กุศลพิธีคือพิธีกรรมอันเนื่องด้วยการอบรมความดีงามทางพุทธศาสนา เช่น พิธีแสดงตนเป็นพุทธมามกะ 
(2) บุญพิธี คือพิธีทำบุญเนื่องในประเพณีครอบครัว ทั้งที่เป็นการทำบุญงานมงคลและอวมงคล 
(3) ทานพิธี คือพิธีถวายทานแด่พระสงฆ์ และ 
(4) ปกิณณกพิธี คือพิธีเบ็ดเตล็ด ได้แก่ พิธีต่างๆ ซึ่งไม่นับเข้าในพิธีทั้งสามข้างต้น ส่วนใหญ่จะเป็นมารยาทและระเบียบปฏิบัติต่างๆ

 2. พระราชพิธี เป็นงานหลวงสำหรับพระมหากษัตริย์ จัดขึ้นตามพระราชประเพณีสืบมาแต่โบราณและทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้จัดเป็นพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น


3. งานพระราชกุศล เป็นงานที่พระมหากษัตริย์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นพิธีหลวง บางงานก็ต่อเนื่องกับพระราชพิธี เช่น พระราชกุศลทักษิณานุประทาน พระบรมอัฐิสมเด็จพระบรมราชบุรพการี หรือพระราชกุศลมาฆบูชา เป็นต้น

 4. รัฐพิธี เป็นงานที่รัฐบาลหรือทางราชการกำหนดขึ้นประจำปี โดยเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงเป็นประธานในการประกอบพิธี หรือจะโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จแทนพระองค์ ตามปกติจะเด็จไปทรงวางพวงดอกไม้ถวายราชสักการะ แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ เช่น รัฐพิธีที่ระลึกวันจักรี วันพระเจ้าตากสินมหาราช วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

การจัดและดำเนินงานพิธีต่างๆ ทั้งในงานพระราชพิธี รัฐพิธี และพิธีของส่วนราชการ คณะบุคคล และเอกชนตามประเพณีไทย ที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน จะมีพิธีสงฆ์เป็นองค์ประกอบสำคัญ และจะมีอย่างอื่น เช่น พิธีโหร พิธีพราหมณ์ หรือพิธีที่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นยึดถือประกอบตามความประสงค์ของผู้จัดพิธีนั้นก็ได้

คุณค่าและประโยชน์ของงานพิธี



 งานพิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นศาสนพิธี พระราชพิธี งานพระราชกุศล และรัฐพิธี ย่อมแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นพุทธศาสนิกชน และเอกลักษณ์ของชาติไทย เช่น พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทย ปัจจุบันนี้ไม่มีชาติใดปฏิบัติพิธีนี้เลยเป็นการเชิดหน้าชูตาของคนไทยว่าเป็นชนชาติที่มีอารยธรรม

นอกจากนั้น งานพิธีต่างๆ ยังเป็นการฝึกวินัยพื้นฐานและนำคนให้ประสานเข้ากับชีวิตชุมชนวินัยในที่นี้ไม่ใช่กฎข้อบังคับแต่เป็นแบบอย่างที่ทำสืบๆกันมา และเป็นที่ยอมรับของชุมชน เพราะเวลาประกอบพิธีทุกคนต้องทำเหมือนๆ กัน เช่น นั่ง ยืน เดิน ในลักษณะที่เรียบร้อย และอยู่ในอาการที่สงบไม่ทำเสียงเฮฮา เป็นต้น และยังเป็นเครื่องนำศรัทธาที่จะพาให้เข้าถึงธรรมที่สูงขึ้นไป เมื่อบุคคลเข้าร่วมกิจกรรมหรือเข้าร่วมพิธีแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดความสงบ เยือกเย็น เกิดความซาบซึ้ง ใจสบาย ปัญญาย่อมเกิดขึ้น สามารถที่จะเข้าถึงธรรมที่สูงขึ้นไปได้

งานพิธียังเป็นรูปแบบที่จะสื่อธรรมสำหรับคนหมู่ใหญ่ การรวมคนเป็นหมู่ใหญ่ นอกจากการนัดหมายแล้ว ก็ยังมีพิธีกรรมที่จะดึงคนให้มาร่วมกันเป็นหมู่ใหญ่ และเป็นโอกาสที่จะสื่อธรรมแก่คนเหล่านั้นได้ เพราะคนที่มาร่วมทำกิจกรรมที่คล้ายคลึงกัน ก็ย่อมมีแนวความคิดที่ไม่ขัดแย้งกัน และเข้ากันได้ การสื่อธรรมก็สะดวกยิ่งสำหรับคนหมู่ใหญ่นี้
พิธีบรรพชาอุปสมบท

คำว่า บวช มาจากคำว่า ป + วช แปลว่า เว้นชั่ว คือเว้นจากกาม ในที่นี้หมายเพียงบวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น จุดมุ่งหมายในการบวชก็คือการปฏิบัติตนเพื่อรื้อถอนออกจากความทุกข์ และทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือความดับทุกข์ อย่างไรก็ตาม การบวชได้แม้เพียงชั่วคราวก็นับว่าดี เพราะนอกจากเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาแล้ว อย่างน้อยก็ยังเป็นเหตุให้รู้จักฝึกหัดความอดทน และความเสียสละอย่างมาก อาจทำให้เข้าถึงพุทธธรรมได้โดยใกล้ชิด
การบรรพชา
การบรรพชา คือ การบวชเป็นสามเณร ผู้บรรพชาต้องเป็นชาย มีอายุไม่ต่ำกว่า 7 ปี ไม่เป็นโรคร้าย วิปริต หรือทุพพลภาพ ไม่เป็นโจรผู้ร้าย และต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาด้วย

สามเณร แปลว่า ผู้เป็นเหล่ากอแห่งสมณะ เมื่อเป็นสามเณรแล้ว ต้องถือศีล 10 คือ
1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน
2. เว้นจากการลักทรัพย์
3. เว้นจากเสพเมถุนธรรม
4. เว้นจากการพูดเท็จ
5. เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
6. เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
7. เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลง ตลอดถึงการดูการฟังสิ่งเหล่านั้น
8. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้การใช้ของหมอเครื่องประเทืองผิว
9. เว้นจากการนอนที่นอนสูงใหญ่และยัดนุ่นสำลีอันมีลายวิจิตร
10. เว้นจากการรับเงินทอง

 นอกจากนั้น ยังต้องมี ปัจจเวกขณะ คือ การพิจารณา จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ตลอดถึงวัตรที่ควรศึกษา อันเกี่ยว
ด้วยมารยาท คือเสขิยวัตร อีก 75 ข้ออีกด้วย

สถานที่ทำพิธี เป็นกุฏิของพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวชก็ได้ เป็นวิหาร หรืออุโบสถก็ได้ มีพระอันดับตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปก็ได้ หรือไม่มีก็ได้
ของใช้ที่สำคัญในพิธี ได้แก่

1. ไตรแบ่ง (สบง 1 ประคตเอว 1 อังสะ 1 จีวระ 1 ผ้ารัดอก 1 ผ้ากราบ 1)
2. จีวร สบง อังสะ (สำรองไว้ใช้) ผ้าอาบน้ำ บาตร
3. ย่าม ผ้าเช็ดหน้า รองเท้า ร่ม ที่นอน เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
4. ขันน้ำ สบู่ กล่องสบู่ แปรง ยาสีฟัน ผ้าเช็ดตัว อาจมีชาม ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าเช็ดมือ ปิ่นโต ด้วยก็ได้
5. ธูป เทียน ดอกไม้ สำหรับบูชาพระรัตนตรัย และสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวช ซึ่งอาจใช้เทียนแพมีกรวยดอกไม้ก็ได้และจะมีเครื่องจตุปัจจัยไทยธรรมสำหรับถวายพระอุปัชฌาย์และพระในพิธีอีกรูปละชุดก็ได้ แล้วแต่กำลังศรัทธา



การอุปสมบท
การอุปสมบท คือ การบวชพระ ผู้ที่จะอุปสมบทได้นั้น จะต้องเป็นชายมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ได้รับการอนุญาตจากบิดามารดา และต้องถือศีล 227 ข้อ

ลำดับพิธีบรรพชาอุปสมบท


 การลาญาติผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เคารพนับถือ เป็นเรื่องที่ผู้จะบวชพึงทำ วิธีปฏิบัติคือ ให้เตรียมกระทงดอกไม้มีกรวยครอบ พร้อมธูปเทียนแพวางลงบนพาน เมื่อไปถึงผู้ที่จะรับการลา ก็เข้าไปกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง เปิดกรวยกระทงดอกไม้แล้วยกขึ้นประคองต่อหน้าผู้รับการลาพร้อมกับกล่าวคำขอขมาว่า "กรรมใดที่ข้าพเจ้าได้เคยล่วงเกินต่อท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ทั้งต่อหน้า และลับหลัง ทั้งที่รู้และไม่รู้ เพื่อความบริสุทธิ์แห่งเพศพรหมจรรย์ ขอท่านโปรดอโหสิกรรมนั้นแก่ข้าพเจ้าด้วย เทอญ" ญาติผู้ใหญ่จะเอื้อมมือมาแตะพาน แล้วกล่าวว่า สาธุ ข้าพเจ้ายินดีอโหสิกรรมให้เธอทุกอย่าง และขอให้เธอจงอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วย ข้าพเจ้าขออนุโมทนาต่อท่านที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา ทดแทนคุณบิดามารดา และจงเป็นศาสนทายาท สืบต่อพระพุทธศาสนาด้วยดีในเพศพรหมจรรย์ เทอญ" จบแล้วนาคจึงเอาพานวางที่พื้น กราบเบญจางคประดิษฐ์อีกสามครั้ง แล้วนั่งพับเพียบ เมื่อสนทนาพอสมควรแก่เวลาแล้ว บอกลาท่าน ท่านจะมอบพานดอกไม้ เทียนแพคืนให้ เพื่อจะได้นำไปใช้ลาท่านผู้อื่นต่อไปการปลงผม ถ้าในงานบวชนาคนั้นมีพิธีทำขวัญนาคด้วย ก็จะปลงผมก่อนวันบวชหนึ่งวัน แล้วนุ่งขาวห่มขาวเข้าพิธีทำขวัญนาค ถ้าไม่มีการทำขวัญนาคก็จะปลงผมในวันบวช โดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ หรือพระภิกษุที่คุ้นเคยเป็นผู้ขลิบปลายผมให้ก่อนเป็นพิธี ต่อจากนั้นก็ให้ผู้ที่โกนผมเป็นผู้โกนผม หนวด เครา คิ้ว ให้หมดจด อาบน้ำแล้ว นุ่งขาวห่มขาว เตรียมเข้าโบสถ์เพื่อทำพิธีบรรพชาอุปสมบทต่อไป

การนำนาคเข้าโบสถ์ ตามประเพณีนิยม มักปลงผมนาค และทำขวัญนาคที่บ้านของเจ้านาค วันรุ่งขึ้นจึงมีขบวนแห่ไปยังวัด แล้วแห่นาคไปยังโบสถ์ เวียนโบสถ์สามรอบแบบทักษิณาวรรต พร้อมด้วยเครื่องอัฏฐบริขารที่ใช้ในการบวช และของที่ถวายพระ จนครบแล้วจะให้นาคมาวันทาสีมา ส่วนเครื่องอัฏฐบริขาร และของถวายพระ จะนำไปตั้งในโบสถ์ก่อน การวันทาสีมา นาคจะจุดธูปเทียนที่เสมาหน้าโบสถ์ แล้วนั่งคุกเข่าประนมมือกล่าวคำวันทาสีมา แล้วกราบ ปักดอกไม้ธูปเทียน ณ ที่จัดไว้ เมื่อวันทาเสมาเสร็จแล้ว นำนาคมาที่หน้าโบสถ์ นาคจะโปรยทาน เสร็จแล้วจึงจูงนาคเข้าโบสถ์ โดยบิดาจูงมือข้างขวา มารดาจูงมือข้างซ้าย พวกญาติคอยจับชายผ้าตามส่งข้างหลัง นาคต้องก้าวข้ามธรณีประตูห้ามเหยียบเป็นอันขาด เมื่อพ้นประตูไปแล้วให้เดินตรงไปที่พระประธาน ไหว้พระประธานโดยใช้ดอกไม้ธูปเทียนอีกหนึ่งกำนำไปจุดธูปเทียนบูชาพระประธาน ใช้คำบูชาพระเหมือนคำวันทาเสมาข้างต้น แล้วกลับมานั่ง ณ ที่ซึ่งจัดไว้แถวผนังด้านหน้าของโบสถ์


พิธีบรรพชาอุปสมบท เมื่อถึงกำหนด พระสงฆ์ที่ได้รับอาราธนาในพิธีบวชมีพระอุปัชฌาย์ พระคู่สวดและพระอันดับจะเข้าอุโบสถ นั่งตามแผนผังที่คณะสงฆ์กำหนด พิธีเริ่มโดยพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือญาติผู้ใหญ่เข้ามานั่งข้างหน้านาค เพื่อจะมอบผ้าไตรให้นาคเข้าทำพิธีบวชต่อพระสงฆ์ต่อไป ซึ่งปฏิบัติเช่นเดียวกับวิธีซ้อมขานนาคที่กล่าวมาแล้ว เมื่อพระอุปัชฌาย์บอก อนุศาสน์เสร็จแล้ว เจ้าภาพ ญาติมิตรถวายของพระอันดับ พระใหม่ถวายพระอาจารย์คู่สวดอีกหนึ่งรูปที่ยังมิได้ถวาย ต่อจากนั้นพระอุปัชฌาย์จะบอกให้พระใหม่มานั่งรับประเคนของบริวารบวชที่ด้านหน้า พระใหม่จะออกมานั่งพับเพียบอยู่ท้ายอาสนสงฆ์ ทอดผ้ากราบไว้ข้างหน้า หากผู้ชายประเคนก็รับของด้วยมือ หากเป็นผู้หญิงก็จับผ้ากราบไว้ โยมผู้หญิงจะวางบนผ้ากราบ เมื่อรับของประเคนหมดแล้ว ให้กลับนั่งหันหน้ามาทางพระสงฆ์ เตรียมกรวดน้ำ 

การกรวดน้ำ มื่อเสร็จการรับประเคนแล้ว พระใหม่และพ่อแม่หรือผู้ปกครอง หรือเจ้าภาพในการบวชครั้งนี้ จะกรวดน้ำโดยใช้เต้ากรวดน้ำคนละที่ เมื่อพระอุปัชฌาย์ซึ่งเป็นประธานสงฆ์ในที่นั้น เริ่มบทอนุโมทนาว่า ยถา วารีวหา ปูร ....พระใหม่และญาติที่เป็นเจ้าภาพก็จะกรวดน้ำพร้อมกัน เมื่อขึ้นบท สพฺพีติโย.... ก็กรวดน้ำหมดเต้าพอดี นั่งพนมมือรับพรจากพระสงฆ์ เสร็จแล้วพระใหม่กราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีการบวช หลังจากนั้นพระพี่เลี้ยงจะนำพระใหม่ขึ้นจากโบสถ์ พระใหม่ควรสะพายบาตรด้วยไหล่ขวา มือซ้ายถือพัด ส่วนของอื่นให้ผู้อื่นถือไป พระพี่เลี้ยงจะนำออกทางประตูหน้า
คุณสมบัติของผู้ของบรรพชาอุปสมบท 


ผู้ที่จะบวชเป็นสามเณรหรือพระได้ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

 ๑.เป็นสุภาพชนที่มีความประพฤติดีประพฤติชอบ ไม่มีความประพฤติเสียหาย เช่นติดสุราหรือยาเสพติดให้โทษเป็นต้น และไม่เป็นคนจรจัด
๒.มีความรู้อ่านและเขียนหนังสือไทยได้
๓.ไม่เป็นผู้มีทิฏฐิวิบัติ
๔.ไม่เป็นคนล้มละลาย หรือมีหนี้สินผูกพัน
๕.เป็นผู้ปราศจากบรรพชาโทษ และมีร่างกายสมบูรณ์ อาจบำเพ็ญสมณกิจได้ ไม่เป็นคนชราไร้ความสามารถหรือทุพพลภาพ หรือพิกลพิการ
๖.มีสมณบริขารครบถ้วนและถูกต้องตามพระวินัย
๗.เป็นผู้สามารถกล่าวคำขอบรรพชาอุปสมบทได้ด้วยตนเอง และถูกต้องไม่วิบัติ


ต่อไปนี้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้จะบวชได้แก่

 ๑.เป็นคนทำความผิด หลบหนีอาญาแผ่นดิน
๒.เป็นคนหลบหนีราชการ
๓.เป็นคนต้องหาในคดีอาญา
๔.เป็นคนเคยถูกตัดสินจำคุกฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
๕.เป็นคนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
๖.เป็นคนมีโรคติดต่ออันน่ารังเกียจ เช่นวัณโรคในระยะอันตราย
๗.เป็นคนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

การเตรียมตัวก่อนบวช ผู้จะบวชเรียกว่า อุปสัมปทาเปกข์ หรือ นาคซึ่งต้องท่องคำบาลีหรือที่เรียกกันว่าขานนาคให้คล่องเพื่อใช้ในพิธีโดยต้องฝึกซ้อมกับพระอาจารย์ให้คล่องก่อนทำพิธีบวชเพื่อจะได้ไม่เคอะเขิน



เครื่องอัฏฐบริขารและเครื่องใช้อื่นๆ ที่ควรมีหรือจำเป็นต้องใช้ได้แก่

๑.ไตรครอง ได้แก่ สบง ๑ ประคตเอว ๑ อังสะ ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ารัดอก ๑ ผ้ากราบ ๑ 
๒.บาตร แบบมีเชิงรองพร้อมด้วยฝา ถลกบาตร สายโยค ถุง ตะเคียว 
๓.มีดโกน พร้อมทั้งหินลับมีดโกน 
๔.เข็มเย็บผ้า พร้อมทั้งกล่องเข็มและด้าย 
๕.เครื่องกรองน้ำ (ธมกรก) 
๖.เสื่อ หมอน ผ้าห่ม มุ้ง
๗.จีวร สบง อังสะ ผ้าอาบ ๒ ผืน (อาศัย) 
๘.ตาลปัตร ย่าม ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า 
๙.โคมไฟฟ้า หรือตะเกียง ไฟฉาย นาฬิกาปลุก 
๑๐.สำรับ ปิ่นโต คาว หวาน จานข้าว ช้อนส้อม ผ้าเช็ดมือ 
๑๑.ที่ต้มน้ำ กาต้มน้ำ กาชงน้ำร้อน ถ้วยน้ำร้อน เหยือกน้ำและแก้วน้ำเย็น กระติกน้ำแข็ง กระติกน้ำร้อน 
๑๒.กระโถนบ้วน กระโถนถ่าย 
๑๓.ขันอาบน้ำ สบู่และกล่องสบู่ แปรงและยาสีฟัน ผ้าขนหนู กระดาษชำระ 
๑๔.สันถัต (อาสนะ) 
๑๕.หีบไม้หรือกระเป๋าหนังสำหรับเก็บไตรครอง 

 ข้อที่ ๑-๕ เรียกว่าอัฏฐบริขารซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดเสียมิได้ มีความหมายว่า บริขาร ๘ แบ่งเป็นผ้า ๕ อย่างคือ สบง ๑ ประคตเอว ๑ จีวร ๑ สังฆาฏิ ๑ ผ้ากรองน้ำ ๑ และเหล็ก ๓ อย่างคือ บาตร ๑ มีดโกน ๑ เข็มเย็บผ้า ๑ นอกจากนั้นก็แล้วแต่ความจำเป็นในแต่ละแห่งและกำลังทรัพย์ 




ที่มา:http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m5/web/vansumkun/p1.php

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น