วันพุธที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

หน่วยการเรียนรู้ที่ 2

ความหมายและคุณค่าของธรรมะ



ความหมายของธรรมะ คำว่า ธรรมะ หรือธัมมะ พระพุทธโฆษาจารย์ได้ให้ความหมายไว้ 4 ประการคือ
1. คุณะ ได้แก่ ความประพฤติที่ดีงาม                         
2. เทศนา ได้แก่ คำสั่งสอน คำแนะนำทางศีลทางธรรม
3. ปริยัติ ได้แก่ ลักษณะคำสอนของพระพุทธเจ้า 9 แบบ
4. นิสสัตต-นิชชีวะ ได้แก่ กฎแห่งเอกภพที่มิใช่สัตว์ มิใช่บุคคล หรือกฎธรรมชาติ 

ท่านพุทธทาสภิกขุ ได้จำแนกธรรมไว้ 4 ประเภทเช่นเดียวกัน คือ
1. ธรรมะ คือหน้าที่และการปฏิบัติตามหน้าที่
2. ธรรมะ คือผลที่เกิดจากการปฏิบัติตามหน้าที่
3. ธรรมะ คือความจริงที่ปรากฏหรือกฎธรรมชาติ
4. ธรรมะ คือธรรมชาติทั้งปวง


กล่าวโดยสรุป ธรรมะ หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกัน และพระธรรมปิฎก กล่าวถึงความหมายของพระธรรมไว้ว่า พระธรรม คือ ความจริงของสิ่งทั้งหลายหรือธรรมชาติทั้งหมด รวมทั้งโลกและชีวิตของเรา ซึ่งเราจะต้องรู้ เข้าใจ และดำเนินชีวิตให้ประสานสอดคล้องถูกต้องตามนั้น เพื่อจะได้มีชีวิตที่ดีงาม เป็นสุขแท้จริง


คุณค่าของพระธรรม
ธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้น แม้จะมีจำนวนมากมาย แยกแยะเป็นหลายประเภท หากบุคคลรู้จักเลือกสรรเขาหัวข้อธรรมมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและชีวิตของตน ครอบครัว และสังคมแล้ว ย่อมจะเป็นไปตามจุดมุ่งหมายของศาสดาผู้นำมาประกาศ หลักธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์แล้วเป็นจริง เป็นสิ่งที่พาไปสู่ความสงบสุข และประโยชน์เกื้อกูล คุณของพระธรรมที่เรียกว่า “ธรรมคุณ” สรุปได้ 6 ประการคือ

 1. สฺวากขาโต ภควา ธมฺโม แปลว่า พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเข้าตรัสดีแล้ว คือ ตรัสไว้เป็นความจริงแท้ อีกทั้งงามในเบื้องต้น(ละชั่ว : ประพฤติศีล) งามในท่ามกลาง (ทำดี : สมาธิ) และงามในที่สุด (ทำใจให้บริสุทธิ์ : ปัญญา) พร้อมทั้งอรรถ (เนื้อความ, ใจความ)พร้อมทั้งพยัญชนะ (อักษร) ประกาศหลักการครองชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
2. สนฺทิฏฺฐิโก แปลว่า อันผู้ปฏิบัติธรรมจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง คือ ผู้ใดปฏิบัติธรรม ผู้ใดบรรลุธรรม ผู้นั้นย่อมเห็นประจักษ์ชัดด้วยตนเอง ไม่ต้องเชื่อตามคำบอกของผู้อื่น ผู้ใดไม่ปฏิบัติธรรม ไม่บรรลุธรรม ถึงผู้อื่นจะบอกก็เห็นชัดเจนไม่ได้

3. อกาลิโก แปลว่า ไม่ประกอบด้วยกาล คือ การปฏิบัติธรรม ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา พร้อมเมื่อใด บรรลุได้ทันที บรรลุเมื่อใด เห็นเห็นผลได้ทันที อีกอย่างว่า ความเจริญเป็นอยู่อย่างไร ก็เป็นอยู่อย่างนั้นไม่จำกัดด้วยกาลเวลา

4. เอหิปสฺสิโก แปลว่า ควรเรียกให้มาดู คือ เชิญชวนให้มาชม และพิสูจน์ได้ หรือท้าทายต่อการตรวจสอบ เพราะเป็นของจริงและดีจริง

5. โอปนยิโก แปลว่า ควรน้อมเข้ามา คือ ควรน้อมนำหลักธรรมเข้ามาไว้ในใจ หรือน้อมใจเข้าไปให้ถึงหลักธรรม ด้วยการปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในใจ หรือให้ใจบรรลุถึงอย่างนั้น หมายความว่าเชิญชวนให้ทดลองปฏิบัติดู อีกอย่างหนึ่งว่า เป็นสิ่งที่นำผู้ปฏิบัติให้เข้าไปถึงที่หมายคือ นิพพาน

6. ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ แปลว่า อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน คือ เป็นวิสัยของวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตนเองเท่านั้น หรือรู้
ได้จำเพาะตน ต้องทำ ต้องปฏิบัติ จึงรับรู้หรือรู้ได้เฉพาะตัว ทำให้กันไม่ได้ เอาจากกันไม่ได้ และรู้ได้ ประจักษ์ที่ในใจของตนนี่เอง
พระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนั้น เป็นหลักให้แก่การดำเนินชีวิตของเรา เมื่อเราปฏิบัติถูกต้องตามธรรมนั้น ศักยภาพแห่ง
ความเป็นมนุษย์ของเราก็จะเจริญปรากฏออกมา จนกระทั่งเราเข้าถึงความจริงของธรรมชาติ มีชีวิตที่ดีงามมีความสุขอย่างแท้จริง พระ
ธรรมจึงเป็นรัตนะที่ 2 ในพระรัตนตรัย ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมจะได้รับผลดังนี้

1. รักษาผู้ปฏิบัติธรรมให้อยู่เย็นเป็นสุข
2. เป็นดุจอาภรณ์ประดับใจให้งดงาม
3. พัฒนาคนไปสู่ความเป็นกัลยาณชน
4. ขจัดความชั่วออกจากจิตใจ


อริยสัจ 4 : ทุกข์ : ขันธ์ 5 : โลกธรรม 8

โลกธรรม 8 (worldly conditions) 


โลกธรรม คือ ธรรมดาของโลก, เรื่องของโลก, ธรรมที่ครอบงำโลก หรือธรรมที่มีประจำโลก หมายถึง ธรรมที่ครอบงำสัตว์โลกและสัตว์โลกต้องเป็นไปตามธรรมนี้ หรือทุกคนในโลกนี้ย่อมถูกโลกธรรมนี้กระทบทั้งนั้น ไม่มีใครพ้นไปได้เลย ยกเว้นพระอรหันต์ผู้อยู่เหนือโลกเท่านั้น โลกธรรมมี 8 ประการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายแรกฝ่ายที่น่าปรารถนาและพึงพอใจ (อิฏฐารมณ์) และฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนาหรือไม่พึงพอใจ (อนิฏฐารมณ์) ดังตารางต่อไปนี้ 



คู่ที่ 1 ได้ลาภ เสื่อมลาภ ลาภ หมายถึง การให้มาซึ่งสิ่งที่พึงพอใจ เช่น เงินทอง สิ่งของ บุคคล เป็นต้น เมื่อได้มาแล้วยังมีทุกข์ติดตามแอบแฝง ซ่อนเร้นมากับลาภนั้นอีก บางคนต้องเสียชีวิตเพราะมีลาภและป้องกันลาภ ครั้นเมื่อสิ่งที่ได้มาแล้วมีอันต้องวิบัติสูญหายไปหรือถูกแย่งชิงไป เช่น เสียเงินเสียทอง เสียที่อยู่อาศัย เสียสิ่งที่รักที่หวงแหน หรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เรียกว่าเสื่อมลาภ จิตใจก็เป็นทุกข์

ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องโลกธรรมตามความเป็นจริง ย่อมมีพฤติกรรมเกี่ยวกับลาภในทางที่ผิด เช่น มุ่งแสวงหาในทางทุจริต เกิดความโลภหรือความต้องการไม่มีสิ้นสุด จึงก่อให้เกิดการกระทำที่ไม่ดีไม่ถูกต้องเพื่อให้ได้มาซึ่งลาภที่ตนต้องการ และหากสูญหายไปก็เกิดความเศร้าโศกเสียใจ เป็นทุกข์จนเกินเหตุ หากเข้าใจก็พึงแสวงหามาได้ตามกำลังความสามารถและสติปัญญาของตน ไม่โลภมาก หากสูญหายไปก็ถือว่าเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งหลายย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด ทำให้เกิดความสบายใจ เข้าใจกฎของธรรมชาติในข้อนี้ ดุจดังสังขารในขันธ์ 5 ที่ปรุงแต่งขึ้นมา ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด
คู่ที่ 2 ได้ยศ เสื่อมยศ ยศ แปลว่า ความยิ่ง ความเด่น ซึ่งหมายถึง ความยิ่งของคน ความเด่นของคน ยิ่งด้วยความเป็นใหญ่ เรียกอิสริยยศ ยิ่งด้วยชื่อเสียงคุณความดี เรียก เกียรติยศ ยิ่งด้วยบริวาร พวกพ้อง เรียกบริวารยศ ทั้ง 3 ยศ หากมีความกระหายต้องการให้ได้ได้ยศมา ก็เกิดความวิตกกังวล เกิดความทุกข์ เพราะเกิดทั้งความโลภ เมื่อไม่ได้มาก็เกิดความโกรธ เมื่อมีแล้วก็เกิดความหลง ดังนั้นจะต้องเข้าใจว่ายศเหล่านี้มีวันเสื่อมสลายไปในที่สุด เรียกว่า เสื่อมยศ หากเราไม่เข้าใจหลักธรรมข้อนี้ก็จะเกิดความหลงมัวเมาเมื่อมียศ เกิดความวิตกกังวล คับข้องใจ และเป็นทุกข์เมื่อเสื่อมยศ เป็นต้น

คู่ที่ 3 สรรเสริญ นินทา สรรเสริญ ได้แก่การกล่าวขวัญถึงความดี จะต่อหน้าหรือลับหลังก็ตาม การได้ฟังคำสรรเสริญ คำยกย่องคำชมเชย ทำให้ใจเบิกบาน มีความสุข ในทางตรงกันข้าม หากใครถูกนินทา หรือการพูดให้ร้ายหรือพูดในทางที่ไม่ดีในที่ลับหลัง ก็เกิดความไม่พึงพอใจ เกิดความโกรธ ทั้งสองประการนี้ หากไม่เข้าใจหลักธรรมเช่นนี้ ก็เกิดความลุ่มหลงมัวเมา หลงระเริง ทำให้เกิดความลืมตัว ก่อให้เกิดความเห็นผิด หลงตนเอง เมื่อคนอื่นสรรเสริญ และเกิดความไม่พึงพอใจ และทุกข์ใจในที่สุดเมื่อถูกนินทา เป็นต้น ดังนั้นเมื่อเข้าใจหลักธรรมนี้จะช่วยให้เกิดหลักของความอุเบกขา คือ ไม่แสดงอาการใด ๆ เมื่อถูกสรรเสริญ หรือนินทา ถือว่าเป็นธรรมดาของโลก

คู่ที่ 4 สุข ทุกข์ โลกธรรมคู่นี้เป็นคู่รวบยอด คือสภาพความเป็นอยู่ของคนเราเมื่อกล่าวโดยรวมยอดแล้วมี 2 สภาพคือ สุขและทุกข์เป็นสภาพที่มนุษย์เราจะต้องเผชิญทั้ง 2 ประการ ดังนั้นพึงเข้าใจว่าเราจะดำเนินวิถีชีวิตอย่างไรให้มีความสุขมากกว่าทุกข์ นั่นก็คือจะต้องใช้ปัญญาพิจารณาถึงความดับทุกข์ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาได้นำเสนอหลักของอริยสัจ 4 เป็นหลักธรรมในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความทุกข์ที่เกิดขึ้น
สรุปก็คือโลกธรรมทั้งสองฝ่ายคือ ฝ่ายอิฏฐารมณ์ และอนิฏฐารมณ์ เมื่อเกิดมาแล้ว มันไม่เที่ยง ไม่คงทนถาวร ไม่แน่นอน ย่อมเสื่อมสลายไปในที่สุด ดังนั้นจึงไม่ให้ยึดมั่นถือมั่น จะก่อให้เกิดความทุกข์ในที่สุด


อริยสัจ 4 : สมุทัย : กรรมนิยาม : กรรม 12

กรรมนิยาม (Law of Kamma, Moral laws)

 กรรมนิยาม คือ กฎการให้ผลของกรรม หรือกฎธรรมชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการกระทำและการให้ผลของการกระทำ มี 2 ประการคือ การกระทำดี ย่อมได้รับผลดี กระทำชั่วย่อมได้รับผลชั่ว

กรรม 12 (kamma, action) กรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว จะก่อให้เกิดกรรมดีเมื่อมีเจตนาจะทำความดี และจะก่อให้เกิดกรรมชั่วเมื่อมีเจตนาจะทำความชั่ว ในที่นี้ หมายถึง กรรมประเภทต่าง ๆ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผลของกรรมเหล่านั้นกรรม 12 แบ่งออกเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ แต่ละหมวดแบ่งย่อยออกเป็น 4 ดังนี้คือ

หมวดที่ 1 กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา คือจำแนกตามเวลาที่ให้ผล แบ่งเป็น

1. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน หรือในชาตินี้ เป็นกรรมที่มีพลังแก่กล้ามากจึงให้ผลในปัจจุบัน ฝ่ายกุศล ได้แก่ ศีล ทาน ที่ได้บำเพ็ญอยู่สม่ำเสมอ หรือกระทำกุศลอย่างแรงกล้า เช่น ยินดีเสียสละความสุขหรือแม้แต่ชีวิตของตน เพื่อรักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะได้รับผลจากการกระทำในชาตินี้ ตัวอย่างเช่น ปุณณทาสชายเข็ญใจ ยินดีเสียสละโดยนำเอาอาหารที่ภรรยาตั้งใจนำมาให้ตนรับประทานนั้นน้อยถวายแด่พระสารีบุตรพระอรหันต์เจ้า เมื่อคราวที่ท่านออกจากนิโรธสมาบัติมาใหม่ ๆ ทานนั้นได้อำนวยผลให้ปุณณทาสผู้เข็ญใจ กลับกลายไปเป็นมหาธนเศรษฐี ภายในเวลาไม่นานนัก และฝ่ายอกุศล อันได้แก่อกุศลหนักเช่น ประทุษร้ายบิดามารดา หรือผู้มีศีลบริสุทธิ์ ตลอดจนความชั่วที่กระทำอยู่เสมอ เช่นค้ายาเสพติด ย่อมถูกจับและถูกประหารชีวิตในที่สุด เป็นต้น

2. อุปปัชชเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลที่ชาติหน้าหรือภพหน้า ได้แก่ กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม ที่กระทำในขณะชาตินี้ จะให้ผลในชาติหน้า

3. อปราปริยเวทนียกรรม หมายถึง กรรมที่ให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป ได้แก่กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม จะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไปเรื่อย ๆ ไม่มีกำหนดว่ากี่ชาติ สุดแต่ว่าจะได้โอกาสเมื่อไร ก็จะให้ผลเมื่อนั้น ถ้ายังไม่มีโอกาสก็จะรอคอยอยู่ ตราบใดที่ผู้นั้นยังเวียนว่ายอยู่ในสังสารวัฏ กรรมนี้ก็จะคอยติดตามอยู่ตลอดเวลา ตามทันเมื่อใดก็ให้ผลเมื่อนั้น

4. อโหสิกรรม หมายถึง กรรมที่เลิกให้ผล ได้แก่กรรมดีก็ตาม กรรมชั่วก็ตาม ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะให้ผลภายในเวลาที่จะตอบสนองผลของการกระทำนั้น ๆ กรรมนั้นก็จะสิ้นสุด ถือว่าเป็นการหมดกรรม
หมวดที่ 2 กรรมที่ให้ผลโดยกิจ คือกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ แบ่งเป็น

5. ชนกกรรม หมายถึง กรรมแต่งให้เกิด หรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด ได้แก่ กรรมคือเจตนาดีก็ตาม ชั่วก็ตาม ที่เป็นตัวให้เกิดดุจบิดามารดา คือให้ผลในการปฏิสนธิ เช่น กระทำกรรมดี ได้เกิดในตระกูลที่เป็นเศรษฐี เป็นต้น

6. อุปัตถัมภกรรม หมายถึง กรรมสนับสนุน หรือกรรมอุปถัมภ์ เป็นกรรมที่คอยสนับสนุนชนกกรรม เช่น เกิดมาในตระกูลยากจน แต่กระทำความดีช่วยเหลือผู้อื่นอยู่ไม่ขาด อาจได้รับความเวทนาสงสารจากบุคคลอื่น ให้ได้รับการศึกษา ได้มีงานทำ มีหน้าที่การงานก้าวหน้า จนสามารถยกฐานะของตนเองดีขึ้น เป็นต้น

7. อุปปีฬกกรรม หมายถึง กรรมบีบคั้น หรือกรรมเบียดเบียน คือกรรมที่คอยบีบคั้น เบียดเบียน ทำให้กรรมที่ให้ผลอยู่ก่อนเบาบางลง เช่น เมื่อชนกกรรมนำไปเกิดในครอบครัวที่มั่งคั่ง แต่ถ้าเคยทำอกุศลกรรมอยู่เสมอ ครั้นเมื่อชนกกรรมหมดหน้าที่ เลิกให้ผล อกุศลกรรมซึ่งรอโอกาสอยู่ ก็จะเข้ามาทำหน้าที่เบียดเบียนทันที อาจจะทำให้ยากจนลง หรือถูกกระทำให้พลัดพรากจากครอบครัวตกระกำลำบาก เป็นต้น

8. อุปฆาตกกรรม หมายถึง กรรมตัดรอน เป็นกรรมที่มีอำนาจมากเป็นพิเศษ จะให้ผลอย่างรุนแรงในทันที สามารถขจัดหรือทำลายกรรมที่ให้ผลอยู่ก่อนแล้วให้พ่ายแพ้หมดอำนาจลงได้ จากนั้นกรรมตัดรอนก็จะเข้ามาให้ผลแทนต่อไป เช่น เกิดมาเป็นมหาเศรษฐี มีความสุขสบาย อยู่ได้ไม่นานก็ถูกฆ่าตาย จัดเป็นกรรมตัดรอนฝ่ายชั่ว หรือเกิดมายากจน แต่ได้รับลาภใหญ่กลายเป็นเศรษฐีถือเป็นกรรมตัดรอนฝ่ายดี เป็นต้น
หมวดที่ 3 กรรมที่ให้ผลตามความแรง คือกรรมที่ให้ผลตามความหนัก-เบา แบ่งเป็น

9. ครุกรรม หมายถึง กรรมหนัก ได้แก่กรรมที่ให้ผลแรงมาก ฝ่ายดีได้แก่สมาบัติ 8 (การบรรลุชั้นสูง) ฝ่ายชั่วได้แก่ การกระทำอนันตริยกรรม คือ ฆ่าบิดามารดา ฆ่าพระอรหันต์ ประทุษร้ายพระพุทธเจ้า และทำให้สงฆ์แตกกัน ที่เรียกว่า สังฆเภท ผู้ใดกระทำกรรมเหล่านี้ แม้เพียงประการใดประการหนึ่งก็ตาม กรรมจะให้ผลอย่างหนัก และให้ผลก่อนกรรมอื่น ๆ ไม่มีกุศลกรรมใด ๆ จะสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้

10. หหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม หมายถึง กรรมสะสม ได้แก่กรรมดีหรือกรรมชั่วที่ประพฤติมาก ๆ หรือทำบ่อย ๆ สั่งสมไปเรื่อย ๆ กรรมไหนสะสมบ่อยและมาก ๆ ก็จะให้ผลกรรมเช่นนั้น

11. อาสันนกรรม หมายถึง กรรมเมื่อใกล้ตาย คือกรรมที่ระลึกได้เมื่อใกล้ตาย จะมีอิทธิพลในการเกิดในชาติใหม่ หรือชนกกรรม เช่น เมื่อใกล้ตายระลึกว่าชาตินี้ยากจน ได้ทำบุญกุศลไว้ไม่มากนัก อยากเกิดเป็นลูกเศรษฐีจะได้ทำบุญกุศลให้มาก ๆ เมื่อมาจุติในชาติต่อไปก็จะเกิดในตระกูลที่มั่งคั่ง เป็นต้น

12. กตัตตากรรม หมายถึง กรรมเล็ก ๆ น้อย หรือสักว่าทำ ได้แก่ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน หรือไม่ตั้งใจทำ ทำความดีหรือทำความชั่วเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เคยทำไว้ เมื่อกรรมอื่นๆ ให้ผลหมดแล้ว กรรมชนิดนี้ถึงจะให้ผล ซึ่งเป็นกรรมที่มีอิทธิพลในการให้ผลน้อยที่สุด


อริยสัจ 4 : สมุทัย : มิจฉาวณิชชา 5

มิจฉาวณิชชา 5 

มิจฉาวณิชชา คือ การค้าขายที่ผิด หรือไม่ชอบธรรม หมายถึง บุคคลไม่ควรค้าขายสิ่งเหล่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อเพื่อนมนุษย์ต่อสัตว์และต่อสภาพแวดล้อม ประกอบด้วย

1. สัตถวณิชชา คือ การขายอาวุธ ได้แก่ อาวุธปืน อาวุธเคมี ระเบิด นิวเคลียร์ อาวุธอื่น ๆ เป็นต้น อาวุธเหล่านี้หากมีเจตนาเพื่อทำร้ายกัน จะก่อให้เกิดการทำลายล้างซึ่งกันและกัน โลกจะไม่เกิดสันติสุข นอกจากนั้นยังก่อมลพิษต่อสภาพแวดล้อมอีกด้วย

2. สัตตวณิชชา หมายถึง การค้าขายมนุษย์ ได้แก่ การค้าขายเด็ก ตลอดจนการใช้แรงงานเด็กและสตรีอย่างทารุณ

3. มังสวณิชชา หมายถึง การขายเนื้อสัตว์ เป็นการส่งเสริมให้ทำผิดศีลข้อที่ 1 คือการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยเฉพาะสัตว์ที่กำลังสูญพันธุ์ทุกชนิด

4. มัชชวณิชชา หมายถึง การค้าขายน้ำเมา ตลอดจนการค้าสารเสพติดทุกชนิด

5. วิสวณิชชา หมายถึง การค้าขายยาพิษ ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ รวมทั้งเป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งแวดล้อมด้วย


อริยสัจ 4 : นิโรธ : วิมุตติ 5
วิมุตติ 5 (deliverance)
 วิมุตติ หมายถึง ความหลุดพ้น ความเป็นอิสระ เป็นภาวะจิตที่สำคัญเป็นพื้นฐาน ภาวะความหลุดพ้นเป็นอิสระนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญญา คือ เมื่อเห็นตามความเป็นจริง รู้เท่าทันสังขารแล้ว จิตจึงพ้นจากอำนาจครอบงำของกิเลส (ความโลภ ความโกรธ ความหลง) ลักษณะด้านหนึ่งของความเป็นอิสระ ในเมื่อไม่ถูกกิเลสครอบงำ ก็คือ การไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ที่เย้ายวนหรือยั่วยุ อย่างที่ท่านเรียกว่าอารมณ์เป็นที่ตั้งของราคะ หรือ โลภะ โทสะและโมหะ เพราะจิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะแล้ว ทำให้ไม่หวั่นไหวกับสิ่งเหล่านี้ ยังเป็นหลักประกันให้ประกอบการงานอย่างสุจริตด้วย สามารถเป็นนายเหนืออารมณ์ วิมุตติ ประกอบด้วย 5 ประการคือ

1. ตทังควิมุตติ คือ ความหลุดพ้นชั่วคราว หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสได้ชั่วคราว เช่น เกิดความเจ็บปวด หายจากความโลภ เกิดเมตตา หายโกรธ เป็นต้น แต่ความโลภ ความโกรธนั้นไม่หายทีเดียว อาจจะกลับมาอีก เป็นต้น

2. วิกขัมภนวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยการสะกดไว้ หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสได้ด้วยกำลังฌาน คือ สะกดไว้ได้ด้วยกำลังฌาน เมื่อฌานเสื่อมแล้ว กิเลสเกิดขึ้นได้อีก เช่น เมื่อนั่งสมาธิสามารถสะกดข่มกิเลสไว้ เมื่อออกจากสมาธิกิเลสก็กลับมาอีกครั้ง เป็นต้น

3. สมุจเฉทวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นเด็ดขาด หมายถึง ความพ้นจากกิเลสด้วยอำนาจอริยมรรค (มรรคมีองค์ 8) ละกิเลสได้อย่างเด็ดขาด ไม่เกิดกิเลสอีกต่อไป

4. ปฏิปัสสัทธิวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยความสงบ หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลส เนื่องมาจากอริยมรรคอริยผลไม่ต้องขวนขวายเพื่อละกิเลสอีก

5. นิสสรณวิมุตติ คือ ความหลุดพ้นด้วยสลัดออกไป หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสนั้นได้อย่างยั่นยืนตลอดไป ดับกิเลสเสร็จสิ้นแล้ว ได้แก่ นิพพาน




อริยสัจ 4 : มรรค : อปริหานิยธรรม 7

อปริหานิยธรรม 7 (condition of welfare)
อปริหานิยธรรมนี้เป็นหลักธรรมสำหรับใช้ในการปกครอง เพื่อป้องกันมิให้การบริหารหมู่คณะเสื่อมถอย แต่กลับเสริมให้เจริญเพียงส่วนเดียว สามารถนำไปใช้ได้ทั้งหมู่ชนและผู้บริหารบ้านเมืองและพระภิกษุสงฆ์ ดังนี้คือ อปริหานิยธรรมสำหรับหมู่ชนและการบริหารบ้านเมือง เป็นหลักในการปกครอง โดยปฏิบัติตามหลักการร่วมรับผิดชอบที่จะช่วยป้องกันความเสื่อม นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว มี 7 ประการคือ

 1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการประชุมพบปะปรึกษาหารือกิจการงานต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ร่วมกันโดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการประชุมและการทำกิจกรรมทั้งหลายที่พึงกระทำร่วมกัน หรือพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นป้องกันบ้านเมือง

3. ไม่บัญญัติ หรือล้มเลิกข้อบัญญัติต่าง ๆ เป็นการไม่เพิกถอน ไม่เพิ่มเติม ไม่ละเมิดหรือวางข้อกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันมิได้ตกลงบัญญัติไว้ และไม่เหยียบย่ำล้มล้างสิ่งที่ตกลงวางบัญญัติไว้แล้ว ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ

4. ให้ความเคารพและรับฟังความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้มีประสบการณ์ยาวนาน ดังนั้นเราต้องให้เกียรติ ให้ความเคารพนับถือ และรับฟังความคิดเห็นของท่านในฐานะที่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์มามาก

5. ไม่ข่มเหงสตรี เป็นการให้เกียรติและคุ้มครองสตรี มิให้มีการกดขี่ข่มเหงรังแก

6. เคารพบูชาสักการะเจดีย์ คือการให้ความเคารพศาสนสถาน ปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติ อันเป็นเครื่องเตือนความจำ ปลุกเร้าให้เราทำความดี และเป็นที่รวมใจของหมู่ชน ไม่ละเลย พิธีเคารพบูชาอันพึงทำต่ออนุสรณ์สถานที่สำคัญเหล่านั้นตามประเพณีที่ดีงาม

7. ให้การอารักขาพระภิกษุสงฆ์หรือผู้ทรงศีล เป็นการจัดการให้ความอารักขา บำรุง คุ้มครอง อันชอบธรรม แก่บรรพชิต ผู้ทรงศีลทรงธรรมบริสุทธิ์
ซึ่งเป็นหลักใจและเป็นตัวอย่างทางศีลธรรมของประชาชน เต็มใจต้อนรับและหวังให้ท่านอยู่โดยผาสุก



อปริหานิยธรรมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ 
1. หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ เป็นการพบปะปรึกษาหารือกิจการงานคณะสงฆ์โดยสม่ำเสมอ

2. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจกรรมสงฆ์ ซึ่งการประชุม และการทำกิจกรรมใดที่สงฆ์พึงกระทำร่วมกันและพร้อมเพรียงกันลุกขึ้นจัดการแก้ไขสิ่งเสียหาย เหตุไม่ดีไม่งาม 

3. ไม่บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงบัญญัติ คือการไม่ล้มล้างสิ่งที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายตามที่พระองค์ทรงบัญญัติไว้ 

4. เคารพและรับฟังถ้อยคำของภิกษุผู้ใหญ่ คือภิกษุเหล่าใดเป็นผู้ใหญ่ เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปรินายก เคารพนับถือภิกษุเหล่านั้น เห็นถ้อยคำของท่านว่าเป็นสิ่งอันควรรับฟัง เช่น เราเคารพนับถือและเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระสังฆราช พระราชาคณะต่าง ๆ เป็นต้น 

5. ไม่ลุอำนาจตัณหา คือความอยากที่เกิดขึ้น 

6. ยินดีในเสนาสนะป่า ยินดีในความเป็นอยู่ที่ง่าย ๆ เป็นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ที่สงบร่มเย็น 

7. ยินดีสมาชิกใหม่และความปรารถนาดีต่อสมาชิกเก่า คือตั้งสติระลึกไว้ในใจว่า เพื่อนพรหมจารี (พระภิกษุสงฆ์) ทั้งหลายที่เข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกัน และมีความปรารถนาดีพระภิกษุสงฆ์ที่อยู่เก่าให้มีความเป็นอยู่ที่ผาสุก

อริยสัจ 4 : มรรค : ปาปณิกธรรม 3

ปาปณิกธรรม 3 (qualities of a successful shopkeeper or businessman)

 ปาปณิกธรรม คือ หลักของการเป็นพ่อค้า หรือคุณสมบัติของพ่อค้า หมายถึง การเป็นพ่อค้าที่ดีจะต้องมีหลักในการค้าหรือมีคุณสมบัติด้านการค้าดังต่อไปนี้

1. จักขุมา คือ ตาดี หมายถึง การรู้จักสินค้า ดูสินค้าเป็น สามารถคำนวณราคา กะทุนเก็งกำไรได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น

 2. วิธูโร คือ จัดเจนธุรกิจ หมายถึง รู้แหล่งซื้อแหล่งขาย รู้ความเคลื่อนไหวหรือความต้องการของตลาด มีความสามารถในการจัดซื้อจัดจำหน่าย รู้ใจและรู้จักเอาใจลูกค้า บริการตรงกับความต้องการของลูกค้า เป็นต้น

3. นิสสยสัมปันโน คือ มีพร้อมด้วยแหล่งทุนเป็นที่อาศัย หมายถึง ทำตัวเป็นที่เชื่อถือไว้วางใจใสหมู่แหล่งทุนใหญ่ (เครดิตดี) มีความสามารถหาเงินมาลงทุนหรือดำเนินกิจการได้โดยง่าย


อริยสัจ 4 : มรรค : ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4

ทิฏฐธัมมิกัตถสังวัตตนิกธรรม 4 (virtues condutive to benefits in the present)

ทิฏฐธัมมิกัตถะ เป็นข้อปฏิบัติสำคัญที่ทำให้เกิดผล คือ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทำให้มีทรัพย์สินเงินทอง พึ่งตนเองได้ เรียกว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ปัจจุบัน บางทีเรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” โดยมีคำย่อคือ “อุ” “อา” “กะ” “สะ” ดังนี้คือ

1. อุฏฐานะสัมปทา (อุ) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียร รู้จักใช้ปัญญาไตร่ตรองพิจารณาหาวิธีการที่แยบคายในการทำงาน มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักคิด รู้จักทำ รู้จักดำเนินการด้านเศรษฐกิจ ทำการงานประกอบอาชีพให้ได้ผลดี

 2. อารักขสัมปทา (อา) หมายถึง การถึงพร้อมด้วยการรักษา สามารถปกป้องคุ้มครองรักษาทรัพย์สินที่หามาได้ ไม่ให้สูญหายพินาศไปด้วยภัยต่าง ๆ

3. กัลยาณมิตตตา (กะ) หมายถึง การรู้จักคบคนดีหรือมีกัลยาณมิตร ซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้เจริญก้าวหน้าในวงการอาชีพนั้น ๆ ทำให้รู้เห็นช่องทางและโอกาสต่าง ๆ ในการงาน ทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนรู้จักปฏิบัติต่อทรัพย์ของตนอย่างถูกต้อง ไม่ถูกมิตรชั่วชักจูงไปในทางอบายมุข ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินไม่เพิ่มพูนหรือมีแต่จะหดหายไป

4. สมชีวิตา (สะ) หมายถึง ความเป็นอยู่พอดี หรือความเป็นอยู่สมดุล คือเลี้ยงชีพแต่พอดี ไม่ให้ฟุ่มเฟือย ไม่ให้ฝืดเคือง ให้รายได้เหนือรายจ่าย มีเหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น



อริยสัจ 4 : มรรค : โภคาอาทิยะ 5
โภคาอาทิยะ 5 (uses of possessions)

โภคอาทิยะ คือ เมื่อมีทรัพย์สิน ควรนำมาใช้ประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย

1. ใช้จ่ายทรัพย์ นั้นเลี้ยงตนเอง เลี้ยงดูครอบครัว มารดาบิดา ให้เป็นสุข
2. ใช้ทรัพย์นั้นบำรุงเลี้ยงมิตรสหาย ผู้ร่วมกิจการงานให้เป็นสุข
3. ใช้ป้องกันภยันตรายต่าง ๆ
4. ทำพลี คือ การสละบำรุงสงเคราะห์ 5 อย่าง ได้แก่

ก. อติถิพลี ใช้ต้อนรับแขก คนที่ไปมาหาสู่ เป็นเรื่องของการปฏิสันถาร
ข. ญาติพลี ใช้สงเคราะห์ญาติ
ค. ราชพลี ใช้บำรุงราชการด้วยการเสียภาษีอากร เป็นต้น
ง. เทวตาพลี บำรุงเทวดา คือสิ่งที่เคารพนับถือตามลัทธิความเชื่อหรือตามขนมธรรมเนียมของสังคม จ. ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้แก่บุพการี ท่านที่ล่วงลับไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณ

 5. บำรุงสมณพราหมณ์ คือ พระสงฆ์ผู้ประพฤติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ฝึกฝนพัฒนาตนเอง ไม่ประมาทมัวเมา ผู้ที่จะดำรงธรรมไว้ให้แก่สังคม


อริยสัจ 4 : มรรค : อริยวัฑฒิ 5
ริยวัฑฒิ 5 (noble growth)

อริยวัฑฒิ คือ ความเจริญอย่างประเสริฐ คือหลักความเจริญของอารยชน หรือคนที่เจริญแล้ว ประกอบด้วย

1. ศรัทธา คือความเชื่อ ความเชื่อที่ถูกต้อง ความเชื่อที่เป็นจริง ความเชื่อมั่นในหลักพระพุทธศาสนา ความเชื่อมั่นในพระรัตนตรัยความไม่งบงายในสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นต้น

2. ศีล คือความประพฤติดีปฏิบัติชอบด้วยกายวาจา ความมีระเบียบวินัย การทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต เป็นต้น

3.สุตะ คือการเล่าเรียนสดับตรับฟังการศึกษาหาความรู้อยู่เสมอความรู้ความเข้าใจในหลักพระพุทธศาสนาพอแก่การปฏิบัติและสามารถแนะนำผู้อื่นได้

4. จาคะ คือ การเผื่อแผ่ การแบ่งปัน ความเอื้อเฟื้อ ความมีน้ำใจช่วยเหลือ ความเป็นคนใจกว้าง พร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ เป็นคนที่ไม่เห็นแก่ตัว จิตใจไม่คับแคบ เป็นต้น

 5. ปัญญา คือ ความรอบรู้ การรู้จักคิด รู้จักการพิจารณา เข้าใจเหตุผล รู้จักการดำรงชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีความสุข รู้และเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ทำจิตใจให้เป็นอิสระได้



ริยสัจ 4 : มรรค : มงคล 38 : ถูกโลกธรรมจิตไม่หวั่นไหว

ถูกโลกธรรมจิตไม่หวั่นไหว

โลกธรรม คือ เรื่องของโลก ธรรมดาของโลก ธรรมชาติของโลก หมายถึง ธรรมชาติที่มีอยู่ เป็นอยู่คู่กับมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดา ไม่มีใครสามารถหลุดพ้นได้ แม้แต่พระอริยบุคคลก็ต้องมีสิ่งเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โลกธรรม มี 8 อย่างแบ่งออกเป็น

1. อารมณ์ที่น่าปรารถนา พึงพอใจ เรียกว่า อิฏฐารมณ์ 4 ได้แก่ ได้ลาภ ได้ยศ ได้รับการสรรเสริญ ได้รับความสุข

2. อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่พึงพอใจ เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ 4 ได้แก่ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ ได้รับการนินทา และได้รับความทุกข์โลกธรรมนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งเกิดขึ้นกับปุถุชนทั่วไป และเกิดแก่พระอริยสาวก จะแตกต่างกันก็แต่การวางใจและการปฏิบัติต่อสิ่งเหล่านี้ กล่าวคือ

1) ปุถุชนทั่วไป ที่ไม่ได้รับการศึกษา ไม่รู้จักฝึกอบรมตน ย่อมไม่เข้าใจ ไม่รู้เท่าทันตามความเป็นจริง ลุ่มหลงลืมตน ยินดียินร้าย คราวได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข ก็หลงไหลมัวเมา หรือลำพองจนเหลิงลอย คราวเสียลาภ เสียยศ ถูกนินทา และเป็นทุกข์ ก็เกิดการท้อ หมดกำลังใจ หรือถึงกับคลุ้มคลั่ง ปล่อยให้โลกธรรมเข้าครอบงำย่ำยีจิตใจ ไม่พ้นจากความทุกข์โศก

 2) ผู้ที่ได้รับการฝึกอบรม ผู้เป็นอริยสาวก สามารถรู้และพิจารณารู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่า สิ่งเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ที่เกิดขึ้นกับตน ล้วนไม่เที่ยง ไม่คงทน ไม่สมบูรณ์ มีความแปรปรวนได้เป็นธรรมดา จึงไม่หลงไหลมัวเมา เคลิบเคลิ้มไปตามอารมณ์ที่น่าปรารถนา ปละไม่ขุ่นมัวหม่นหมองคลุ้มคลั่งกับอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา มีจิตใจไม่หวั่นไหว มีสติดำรงอยู่ได้ วางตัววางใจให้พอดี ไม่หลงระเริงในความสุข และไม่ถูกความทุกข์ทับถมจิตใจ เป็นต้นยิ่งกว่านั้น พระอริยสาวกอาจใช้โลกธรรมเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นบทเรียน เป็นแบบทดสอบ

ยิ่งกว่านั้น พระอริยสาวกอาจใช้โลกธรรมเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อารมณ์ที่น่าปรารถนาเป็นบทเรียน เป็นแบบทดสอบเป็นแบบฝึกหัดในการพัฒนาตนและใช้อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาเป็นโอกาสหรือเป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ความดีงาม และบำเพ็ญคุณประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นไป


จิตไม่เศร้าโศก 

ความเศร้าโศก ได้แก่ ความรู้สึกทุกข์กายทุกข์ใจ เป็นปฏิกิริยาอาการที่ไม่ดีของธรรมชาติสำหรับมนุษย์ อันเกิดมาจากสาเหตุต่าง ๆ นา ๆ นานัปการ เช่น เกิดจากความเสื่อมจากญาติ เกิดจากความเสื่อมจากทรัพย์ เกิดจากความเสื่อมจากเกียรติยศชื่อเสียง หรือเกิดจากการถูกทำลาย ทั้งทางกายและจิตใจ หรือความขัดแย้งกันระหว่างความรู้สึกภายในจิตใจกับสิ่งภายนอกร่างกาย
ความเศร้าโศก ต้องบรรเทาด้วยการปฏิบัติธรรม ด้วยการระงับความรู้สึก ด้วยการข่มจิตใจและด้วยการปรับเปลี่ยนความรู้สึกที่ไม่ดีให้เป็นความรู้สึกที่ดี เช่น ระลึกถึงบุญกุศลที่ได้เคยทำไว้ในกาลก่อน หรือด้วยการระงับประสาทระงับความรู้สึกที่ไม่ดี

การมีจิตใจที่ไร้ความเศร้าโศก จึงเป็นภาวะของพระอริยเจ้า ที่มีจิตใจสงบ มั่นคง เด็ดเดี่ยว หนักแน่นและเข้มแข็ง เพราะความรู้สึกเล็ก ๆ น้อยจากความเสื่อมทั้งหลายที่กล่าวมา ไม่สามารถทำให้ท่านมีจิตใจหวั่นไหวและเศร้าโศกได้ เป็นคุณสมบัติอันพิเศษ อันอยู่เหนือวิสัยของปุถุชนคนธรรมดา เป็นภาวะที่มาจากการฝึกฝนจิตให้เข้มแข็ง ทำให้มีความอดทนทั้งด้านร่างกายและจิตใจสูง ทำให้มีพลังความอดทนและความเด็ดเดี่ยวอยู่เหนือความรู้สึกทั้งหมด ความไม่เศร้าโศกจึงทำให้ร่างกาย และจิตใจผ่องใสเบิกบาน ทำให้เป็นศิริมงคลแก่ตัวเองและผู้พบเห็น เป็นการบรรลุจุดหมายอันสูงสุดของชีวิต เป็นผู้กำจัดความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงของชีวิตได้หมดสิ้นแล้ว เป็นผู้ดำรงอยู่ในปรมัตถธรรม พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า การมีจิตใจที่ไร้ความเศร้าโศก เป็นมงคลสูงสุด


ราคะ คือ ความกำหนัดรักใคร่อยากในรูป เสียง กลิ่น รส และอยากสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกที่พึงพอใจ ชอบใจ ทำให้สุขกายสุขใจที่ผสมไปด้วยความทุกข์ และความเศร้าหมองของกายและใจ

โทสะ คือ ความโกรธ ความฉุนเฉียว ความอาฆาตพยาบาทและปองร้าย ความรู้สึกที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั้งทางร่ายกาย วาจาและใจ เป็นภาวะที่ไม่ดีแก่ตัวเองและผู้อื่นเมื่อเกิดความโกรธขึ้น

โมหะ คือ ความหลง ความโง่เขลาเบาปัญญา ความหลงผิด ความเป็นผิดเป็นถูก ความเห็นถูกเป็นผิด เป็นความรู้สึกที่ขาดประสบการณ์ ขาดการวิเคราะห์ ขาดความรับผิดชอบชั่วดีในเรื่องคุณธรรม

ราคะ โดยธรรมชาติแล้ว เป็นสิ่งที่มีโทษน้อยและคลายช้า แต่ถ้ามีโทสะ โมหะเกิดขึ้นร่วมด้วยก็จะทำให้ราคะมีโทษมาก มีพลังมาก มีความรุนแรงมาก ดังนั้นจึงควรกำจัดหรือระงับราคะด้วยอสุภสัญญา คือ พยายามวิเคราะห์ หรือพิจารณาทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงว่า รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส และอารมณ์ความรู้สึกเป็นของธรรมดา อีกไม่ช้าก็จะสูญสลายไปในที่สุด
จิตเกษม
จิตเกษม คือ จิตที่มีสภาวะเป็นกลางและจิตที่ปราศจากกิเลส คือ ไม่มีกิเลสที่เรียกว่า โยคะ และโยคะ ได้แก่ กิเลสที่ครอบงำ สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของวัฏฏะ คือ การเวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ที่มีกิเลส อย่างไม่มีที่สิ้นสุด คำว่า โยคะ มี 4 อย่างคือ

1. กามโยคะ ได้แก่ ความกำหนัด ความรักใคร่ ความพอใจ ผูกใจติดอยู่ในกามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

2. ภวโยคะ ได้แก่ ความกำหนัด ความพอใจ หลงอยู่ติดอยู่ในรูปภพ คือ ภพที่เป็นที่เกิดและเป็นที่อยู่ของพวกพรหมที่มีรูปร่าง 16ชั้น มีชั้นมหาพรหม เป็นต้น และอรูปภพ คือ ภพที่เป็นที่อยู่ของพวกพรหมที่ไม่มีรูปร่าง มี 4 ชั้น มีชั้นสวิญญาณัญจายตนะ เป็นต้น และความผูกใจติดอยู่ในฌาน 4 มี ปฐมฌาน เป็นต้น อันเป็นความกำหนัดที่ประกอบไปด้วยความเชื่อว่า จิตวิญญาณ เป็นของเที่ยง ไม่มีการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย
3. ทิฏฐิโยคะ ได้แก่ ความพอใจหลงติดอยู่ในทิฏฐิ 62 ประการ คือ มีความเชื่อว่า โลกนี้เที่ยง เป็นต้น อันเป็นความเห็นผิดที่ครอบงำสัตว์ให้ตกอยู่ในอำนาจของการเวียนว่ายตายเกิด

4. อวิชชาโยคะ ได้แก่ กิเลสครอบงำสัตว์ให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด ทำให้โง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้ความจริงตามแบบอริยสัจทำให้ไม่สามารถหลุดพ้นจากกการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลกนี้ได้ ทำให้เป็นทุกข์สืบต่อกันไปเรื่อย ๆ หาจุดหมายไม่ได
้ การมีจิตเกษม เป็นเหตุให้ปลอดโปร่งโล่งใจ เป็นเหตุให้เป็นอิสรภาพจากโลกธรรมทั้งหลาย คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศได้รับคำสรรเสริญ ถูกนินทา ได้รับความสุข และความทุกข์ สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถครอบงำจิตใจของเราได้ จึงมีความเป็นอยู่เหนือโลกธรรมทั้งหลาย เป็นเหตุให้มีความเป็นเอกภาพในตัวเอง คือ ได้ศึกษาค้นคว้าฝึกปฏิบัติจบแล้ว ได้บรรลุปัญญาอันสูงสุด มีความรู้จริง เห็นจริง และบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดของชีวิต คือ นิพพาน 

ประโยชน์ของจิตเกษมคือ 


1. ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพาน
2. มีสติปัญญา มีความรู้ความสามารถที่พิเศษขึ้น
3. ทำให้ไม่มีภัย
4. ทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง



 พุทธศาสนสุภาษิต
ปฏิรูปการี ธุรวา อุฏฺฐาตา วินฺทเต ธน 
คนขยันเอาการเอางาน กระทำเหมาะสม ย่อมหาทรัพย์ได้
“คนมีงานทำเป็นหลักเป็นฐาน ตั้งใจทำงาน ย่อมมีโอกาสร่ำรวยได้” ดังนั้นขึ้นชื่อว่าคนขยัน ย่อมไม่ปล่อยให้ตนเเป็นคนว่างงาน ย่อมประกอบอาชีพสุจริต ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ตนเองถนัดและสนใจที่จะทำ เช่น อาชีพข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ พ่อค้า ตลอดจนเป็นชาวไร่ชาวนา หากมีความขยันหมั่นเพียรประกอบอาชีพของตน มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับงานที่ตนกระทำอยู่เป็นอย่างดี เอาใจใส่ดูแลงานให้มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักของอิทธิบาท 4 คือ มีความพอใจในอาชีพการงานของตน (ฉันทะ) มีความขยันหมั่นเพียรดูแลกิจการงานตนเองด้วยความอดทนอดกลั้น (วิริยะ) มีจิตใจจดจ่อมีความตั้งใจที่จะกระทำกิจการงานนั้นให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ (จิตตะ) และหมั่นพินิจพิจารณาเพื่อพัฒนากิจการงานของตนเองให้เจริญก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป (วิมังสา) จะเห็นได้ว่า หากเรามีความขยันหมั่นเพียรประกอบกิจการงานของตนด้วยดี ย่อมจะได้รับผลตอบแทนที่ดี และคุ้มค่าด้วย

วายเมเถว ปุริโส ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา
เกิดเป็นคนควรจะพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จ
“การกระทำอะไรยังไม่บรรลุผลสำเร็จแล้วท้อถอย ไม่ใช่วิสัยของบุรุษ” นั่นคือ เกิดเป็นคน ต้องคิดไว้เสมอว่า ชีวิตคือการต่อสู้ ศัตรูคือที่ทดสอบกำลังใจ การทำอะไรต้องมีความอุตสาหะพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง เช่น เรียนหนังสือก็ต้องให้จบหลักสูตร สอบแข่งขันบรรจุในตำแหน่งการงานใด ๆ ก็ต้องพยายามจนสุดความสามารถ ถ้าหากพลาดพลั้งก็ไม่ท้อถอย ตั้งใจมุ่งมั่นต่อสู้ต่อไป พยายามสร้างพลังใจของตนเองให้เข้มแข็งพร้อมที่จะต่อสู้อุปสรรคของเรา “จงต่อสู้ด้วยจิตใจที่ทระนง หากเราล้ม…เราก็ลุกขึ้นมาได้ไม่ใช่หรือ”

สนฺตุฏฺฐี ปรมํ ธน
ํความสันโดษเป็นทรัพย์อย่างยิ่ง
“ทรัพย์คือปัจจัยสี่ เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิต ถ้าแล้วไม่รู้จักพอก็เป็นทุกข์” คำว่า สันโดษ แปลว่าความยินดีเฉพาะในสิ่งที่มีอยู่หรือความพอใจเท่าที่มีตามฐานะของตน หมายความว่าตนเองแสวงหาปัจจัยสี่ หรือมีปัจจัยสี่ คือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับเช่นใดก็พอใจ ตนเองมีอาหารการกินสุขสมบูรณ์หรือพอยังอัตภาพให้อยู่ได้ก็พอใจ ตนเองมีบ้านที่อยู่อาศัยขนาดไหนก็พอใจ ตนเองมีความสามารถดูแลรักษาพยายาบาลในระดับใด ก็พอใจ เป็นต้น ความพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่นี้จึงถือว่า “เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง” ไม่มีทรัพย์สินที่เป็นปัจจัยสี่ใด ๆ จะเทียบเท่าได้ นั่นคือผลสุดท้ายก็จะประสบกับความสุขที่แท้จริง โดยไม่หลงงมงายกับวัตถุสิ่งของมากเกินไป
อิณาทานํ ทุกฺขํ โลเก
การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก
“การรู้จักสันโดษ ไม่ก่อให้เกิดหนี้” จากพุทธสุภาษิตข้างต้นจะเห็นได้ว่า หากเรารู้จักความพอดีจะนำมาซึ่งความสุข และบุคคลนั้นย่อมไม่ก่อให้เกิดหนี้
การเป็นหนี้โดยการกู้ยืมมาจากบุคคลอื่น เพื่อนำมาใช้จ่าย ทำให้เกิดทุกข์ เพราะต้องจ่ายดอกเบี้ย ถูกทวงถาม ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ต้องโทษ และอาจจะถึงขั้นล้มละลายหรือถูกจองจำในที่สุด
การกู้หนี้มีสองชนิด คือกู้มาเพื่อลงทุนทำกิจการต่าง ๆ และการกู้มาเพื่อกินเพื่อใช้ การกู้ชนิดแรกเป็นการทำเพื่อหวังกำไรและเป็นวิธีการใหม่จึงอยู่นอกความหมายของภาษิตนี้ในที่นี้จึงหมายเฉพาะการกู้มาใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายเท่านั้น

การกู้หนี้คือการหยิบยืมทรัพย์สินของผู้อื่นมาใช้ โดยมีเงื่อนไขจะจ่ายดอกเบี้ยให้ คนกู้หนี้เมื่อได้ทรัพย์สินมาแล้วมักลืมตัวใช้จ่ายไม่ระวัง จึงทำให้ทรัพย์หมดไปอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถจะหาเงินต้นไปคืนเจ้าหนี้ได้ บางทีก็ไปก่อหนี้ใหม่ขึ้นมาอีก ทับถมไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถที่จะหามาทดแทนได้ เกิดเป็นความทุกข์ที่ไม่มีที่สิ้นสุด

 การไม่เป็นหนี้ก็คือ การมีความขยันหมั่นเพียร มีความเพียรพยายามประกอบอาชีพให้ประสบความสำเร็จ และมีความสันโดษ

การสังคายนาและการเผยแผ่พระไตรปิฎก

วิเคราะห์การสังคายนา
สุชีพ ปุญญานุภาพ (2533 : 6-7) 
กล่าวถึงความหมายของการสังคายนาไว้อย่างครอบคลุมว่า “การสังคายนานั้น แปลตามรูปศัพท์ว่าร้อยกรอง คือประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วก็มีการท่องจำนำสืบต่อ ๆ มา

 ในชั้นเดิมการสังคายนาปรารภเหตุความมั่นคงแห่งพระพุทธศาสนา จึงจัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะไว้ ในครั้งต่อ ๆ มาปรากฏมีการถือผิดตีความหมายผิด ก็มีการชำระวินิจฉัยข้อที่ถือผิด ตีความหมายผิดนี้ชี้ขาดว่าที่ถูกควรเป็นอย่างไร แล้วก็ทำการสังคายนา โดยการทบทวนระเบียบเดิมบ้าง เพิ่มเติมของใหม่อันเป็นทำนองบันทึกเหตุการณ์บ้าง จัดระเบียบใหม่ในบางข้อบ้าง ในชั้นหลัง ๆ เพียงการจารึกลงในใบลาน การสอบทานข้อผิดในใบลาน ก็เรียกกันว่าสังคายนา ไม่จำเป็นต้องมีเหตุการณ์ถือผิด เข้าใจผิดเกิดขึ้น แต่ความาจริง เมื่อพิจารณารูปศัพท์แล้ว การสังคายนาก็เท่ากับการจัดระเบียบ การปัดกวาดให้สะอาด ทำขึ้นครั้งหนึ่งก็มีประโยชน์ครั้งหนึ่งเหมือนทำความสะอาด การจัดระเบียบที่อยู่อาศัย”



สาเหตุของการสังคายนา
จากความหมายที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การสังคายนาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น หากเราจะวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการสังคายนา ในที่นี้จะขอกล่าวถึงสาเหตุของการสังคายนา 9 ครั้ง ดังนี้คือ

1. สาเหตุการสังคายนาในประเทศอินเดีย ครั้งที่ 1-2-3
2. สาเหตุการสังคายนาในประเทศศรีลังกา ครั้งที่ 4-5-6-7
3. สาเหตุการสังคายนาในประเทศไทย 8-9

 1. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 1 สาเหตุเนื่องมาจากพระภิกษุบวชเมื่อแก่รูปหนึ่งหนึ่งชื่อ สุภัททะ กล่าวดูหมิ่นพระธรรมวินัย เป็นการทำลายพระพุทธศาสนา พระมหากัสสปะจึงได้จัดทำการสังคายนาขึ้น หลังจากที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว 3 เดือน

 2. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 2 สาเหตุเนื่องมาจากภิกษุวัชชีบุตรกลุ่มหนึ่งได้ปฏิบัติตนหย่อนทางพระวินัย 10 ประการ เช่น เก็บเกลือไว้ในเขาสัตว์เพื่อนำมาผสมอาหารไว้สำหรับฉันได้ตลอดไป ฉันอาหารหลังเที่ยงวันได้ รับเงินและทองได้ ฉันสุราอ่อน ๆ ได้ เป็นต้น จึงมีพระเถระผู้ใหญ่ร่วมมือกันทำสังคายนาครั้งที่ 2 ขึ้น

3. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 3 สาเหตุเนื่องมาจากเดียรถีย์ปลอมบวชในพระพุทธศาสนามากขึ้น แสดงธรรมวินัยผิดแผนไปจากหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ร่วมกับพระเจ้าอโศกมหาราช ทำการสังคายนาครั้งที่ 3 ขึ้น เพื่อชำระสะสางพระธรรมวินัย และกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้น

4. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 4 การสังคายนาในครั้งนี้ไม่มีสาเหตุให้เกิด แต่มีวัตถุประสงค์ในการสังคายนาเพื่อความตั้งมั่นแห่งพระพุทธศาสนาและเป็นการวางรากฐานให้ชาวศรีลังกาท่องจำพระพุทธวจนะตามแนวที่จัดระเบียบไว้ในอินเดีย

5. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 5 สาเหตุเนื่องมาจากพระราชดำริของพระเจ้าวัฏฏคามณีอภัย กษัตริย์ปกครองลังกา ต้องการจารึกพระพุทธวจนะเป็นลายลักษณ์อักษร ด้วยเกรงว่าการถ่ายทอดโดยระบบท่องจำอาจคลาดเคลื่อนได้ จารึกไว้บนใบลาน เป็นภาษาบาลีและถือว่าเป็นต้นฉบับของพระไตรปิฏก

6. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 6 ไม่นับว่าเป็นการสังคายนา แต่เป็นการชำระอรรถกถา โดยพระพุทธโฆษาจารย์ ชาวอินเดียได้แปลและเรียบเรียงอรรถกถาจากภาษาสิงหลเป็นภาษาบาลี ในรัชสมัยของพระเจ้ามหานามะ

7. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 7 เป็นการรจนาและชำระคัมภีร์ต่าง ๆ เป็นภาษาบาลี โดยมีพระกัสสปเถระเป็นประธาน ร่วมกับพระเถระอีก 1,000 รูป

8. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 8 พระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ต้องการชำระอักษรพระไตรปิฏก ในวัดโพธาราม

9. สาเหตุการสังคายนาครั้งที่ 9 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ให้ชำระพระไตรปิฏก โดยช่วยกันชำระพระไตรปิฏก แล้วจัดให้มีการจารึกลงในใบลาน แล้วปิดทองทับทั้งในปกหน้าหลัง และกรอบทั้งหมด เรียกว่า “ฉบับทอง”

บางตำรานับการทำสังคายนาในประเทศไทยอีก 2 ครั้งคือ 

1. การสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ทำสังคายนาพระไตรปิฏก โดยคัดลอกตัวอักขอมให้เป็นภาษาไทย และชำระแก้ไขให้ถูกต้อง นับว่าเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฏกเป็นเล่มด้วยอักษรไทยเป็นครั้งแรก

 2. การสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือ ในปี พ.ศ. 2535 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการแปลและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ชื่อว่า “พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในพุทธศักราช 2535


ปัญหาการนับสังคายนา

เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2540 : 12-13) ได้กล่าวถึงปัญหาการนับสังคายนาไว้ดังนี้คือ

น่าสังเกตว่าแม้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทด้วยกันโดยเฉพาะประเทศไทย พม่า และลังกา ยังนับครั้งการสังคายนาไม่ตรงกัน เนื่องจากการสังคายนาบางครั้งไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศอื่น สรุปการสังคายนาของประเทศต่าง ๆ ดังนี้

 1. ประเทศศรีลังกา ยอมรับการสังคายนา 3 ครั้งที่ประเทศอินเดีย และนับการสังคายนาที่ประเทศของตนต่อมาอีก 3 ครั้ง ครั้งที่ 6หรือครั้งสุดท้ายของศรีลังกาทำเมื่อ พ.ศ. 2406

 2. ประเทศพม่า นับสังคายนาที่ทำในประเทศอินเดีย 3 ครั้ง แล้วนับครั้งที่ 2 ที่ประเทศศรีลังกา เป็นครั้งที่ 4 และมีครั้งที่ 5-6 ที่ประเทศของตน

3. ประเทศไทย ยอมรับการสังคายนาตามลำดับที่ทำในประเทศอินเดีย และลังกา รวม 5 ครั้ง แต่ในหนังสือสังคีติยวงศ์ รจนาเป็นภาษาบาลี โดยสมเด็จพระวันรัต วันพระเชตุพน ในรัชกาลที่ 1 ได้จัดลำดับสังคายนาไว้ 7 ครั้งคือ สังคายนาครั้งที่ 1-3 ที่ประเทศอินเดียครั้งที่ 4-7 ในประเทศศรีลังกา (ส่วนทองหล่อ วงษ์ธรรมมากล่าวว่า ได้รจนาไว้ 9 ครั้ง โดยทำในประเทศไทยอีก 2 ครั้งเป็นครั้งที่ 8-9) 

การเผยแผ่พระไตรปิฎก
พระไตรปิฎก เป็นคัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนาที่พระภิกษุสามเณรและพุทธศาสนิกชนใช้ศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยและปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างถูกต้อง ด้วยเหตุนี้พระไตรปิฎกจึงเรียกว่า พระปริยัติสัทธรรมเพราะเป็นบรรทัดฐานให้เกิดมีพระปฏิบัติสัทธรรมคือ ศีล สมาธิ ปัญญา และมีปฏิเวธสัทธรรม คือ มรรค ผล นิพพานเป็นที่สุด ดังนั้น การเผยแผ่พระไตรปิฏกจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ซึ่งจะขอกล่าวถึงวิธีการเผยแผ่พระไตรปิฎกดังนี้
ี้
1. การเผยแผ่โดยวิธี “มุขปาฐะ” หรือแบบปากต่อปาก โดยหลังจากพุทธปรินิพพานพระมหาสาวกทั้งหลายได้ทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรกด้วยการรวบรวมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจัดเป็นพระไตรปิฎก คือพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก พระสงฆ์สาวกต่อ ๆ มาก็ทรงจำแบบจากปากต่อปากที่เรียกว่า “มุขปาฐะ” สั่งสอนสืบต่อ ๆ กันมา

2. การเผยแผ่เป็นลายลักษณ์อักษร ในการทำสังคายนาครั้งที่ 5 ในประเทศศรีลังกา (ประมาณ พ.ศ. 433) ได้มีการทำสังคายนาด้วยเกรงว่าการท่องจำพระพุทธจวนะอาจจะมีความคลาดเคลื่อนได้ ควรจะมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร จึงมีการจารึกเป็นภาษาบาลี(มคธ) ขึ้น และมีการสังคายนาและแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาให้เป็นภาษาของตน

3. การเผยแผ่เป็นฉบับภาษาไทย ในประเทศไทยได้มีการแปลเป็นภาษาไทย โดยแบ่งออกเป็น 2 สำนวน คือ แปลโดยอรรถตามความในพระบาลีพิมพ์เป็นเล่มเรียกว่า “พระไตรปิฎกภาษาไทย และอีกสำนวนหนึ่งแปลเป็นสำนวนเทศนา พิมพ์ลงในใบลานเรียกว่า พระไตรปิฏกเทศนาฉบับหลวง
ต่อมาใน พ.ศ. 2514 ได้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาไทยเป็นครั้งที่ 2 เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ 9 ได้เสวยราชสมบัติครบ 25 ปี เรียกว่า พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับหลวง และครั้งสุดท้ายมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีการแปลและจัดพิมพ์ดังได้กล่าวมาแล้ว ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกให้เป็นภาษาไทย เพื่อให้พุทธศาสนิกชนที่เป็นคนไทยทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกได้ ซึ่งเป็นการเผยแผ่พระไตรปิฎกอีกลักษณะหนึ่ง 


เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2540 : 17-18) ได้กล่าวถึงวิธีการถ่ายทอดพระไตรปิฎกว่า ในพระสูตรหลายแห่งเช่น อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต บอกวิธีการศึกษาเล่าเรียนเพื่อให้การถ่ายทอดคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไว้ 5 ประการคือ 

1. ต้องฟังมาก โดยหาโอกาสสดับตรับฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้มาก

2. จำได้ โดยเมื่อฟังแล้วพยายามจำให้ได้ จับหลักหรือสาระได้ ทรงจำไว้แม่นยำ

3. ท่องบ่นสาธยายจนคล่องปาก 

4. เพ่งพินิจพิจารณาความหมายด้วยใจจนนึกครั้งใดก็ปรากฏเนื้อหาความสว่างชัด 

5. ขบให้แตก คือทำความเข้าใจลึกซึ้ง มองเห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ทั้งแง่ความหมายและเหตุผล 

 วิธีการทั้ง 5 นี้ เอื้ออำนวยให้ระบบการถ่ายทอดหลักคำสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสืบทอดต่อ ๆ กันมาเป็นเวลานานหลังจากพุทธปรินิพพาน เนื่องจากคำสอนของพระพุทธองค์มีมากมาย เกินความสามารถของปัจเจกบุคคลคนเดียวจะจำได้หมด จึงได้มีการแบ่งหน้าที่กันในหมู่สงฆ์ ให้บางรูปที่เชี่ยวชาญทางพระวินัยรับผิดชอบท่องจำพระวินัย บางรูปท่องพระสูตร เป็นต้น

เรื่องน่ารู้จากพระไตรปิฎก
คนครองเรือนที่ร้ายและที่ดี 10 ประเภท
คนครองเรือน แยกได้เป็นหลายประเภท จัดเป็นขั้น ๆ ได้ตั้งแต่ร้ายไปถึงดี และที่ดีก็มีหลายระดับ คฤหัสถ์ที่ดี น่าเคารพนับถือแท้จริง คือประเภทที่ 10 ในคนครองเรือน 10 ประเภทต่อไปนี้

กลุ่ม 1 หาทรัพย์โดยทางไม่ชอบธรรม
1. แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุขทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสียทั้ง 3 ส่วน : ควรตำหนิทั้ง 3 สถาน)
2. แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย 2 ส่วน ดี 1 ส่วน : ควรตำหนิ 2 ส่วน ชม 1 สถาน)

3. แสวงหาทรัพย์โดยไม่ชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุขด้วย เผื่อแผ่แบ่งปันและใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย 1 ส่วน ดี 2 ส่วน : ควรตำหนิ 1 สถาน ชม 1 สถาน)
กลุ่มที่ 2 หาชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง

4. แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย 3 ส่วน ดี 1 ส่วน : ควรตำหนิ 3 สถาน ชม 1 สถาน)
5. แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุขแต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย 2 ส่วน ดี 2 ส่วน : ควรตำหนิ 2 สถาน ชม 2 สถาน)
6. แสวงหาทรัพย์โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุขด้วย เผื่อแผ่แบ่งปันและใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย 1 ส่วน ดี 3 ส่วน : ควรตำหนิ 1 สถาน ชม 3 สถาน)
กลุ่มที่ 3 หาโดยชอบธรรม 
7. หาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว ไม่เลี้ยงตนให้เป็นสุข ทั้งไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย 2 ส่วน ดี 1 ส่วน : ควรตำหนิ 2 สถาน ชม 1 สถาน )
8. หาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข แต่ไม่เผื่อแผ่แบ่งปันและไม่ใช้ทรัพย์นั้นทำความดี (เสีย 1 ส่วน ดี 2 ส่วน : ควรตำหนิ 1 สถาน ชม 2 สถาน)
9. หาทรัพย์โดยชอบธรรม ได้ทรัพย์มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุขด้วย เผื่อแผ่แบ่งปันและใช้ทรัพย์นั้นทำความดี แต่ยังติด ยังมัวเมา หมกมุ่น กินใช้ทรัพย์สมบัติ โดยไม่รู้เท่าทันเห็นโทษ ไม่มีปัญญาที่จะทำตนให้เป็นอิสระ เป็นนายเหนือโภคทรัพย์ได้ (เสีย 1 ส่วน ดี 3 ส่วน : ควรตำหนิ 1 สถาน ชม 3 สถาน)

พวกพิเศษ ผู้ที่แสวงหาความชอบธรรม และใช้อย่างมีสติสัมปชัญญะ มีจิตใจเป็นอิสระ
 มีลักษณะดังนี้

10. แสวงหาโภคทรัพย์โดยทางชอบธรรม ได้มาแล้ว เลี้ยงตนให้เป็นสุข เผื่อแผ่แบ่งปัน และใช้ทรัพย์นั้นทำความดี ไม่ลุ่มหลง ไม่หมกมุ่นมัวเมา กินใช้ทรัพย์สมบัติโดยรู้เท่าทัน เห็นคุณโทษ ทางดีทางเสียของมัน มีปัญญา ทำให้ตนเป็นอิสระหลุดพ้น เป็นนายเหนือโภคทรัพย์
ประเภทที่ 10 นี้ พระพุทธเจ้าสรรเสริญว่าเป็นผู้เลิศ ประเสริฐสูงสุด ควรชมทั้ง 4 สถานคือ เป็นคฤหัสถ์แบบฉบับ

ที่น่าเคารพนับถือ
ศัพท์ทางพระพุทธศาสนา
โพธิปักขิยธรรม 

โพธิปักขิยธรรม คือ ธรรมอันเป็นไปในการฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้ ธรรมอันเป็นไปในการฝักฝ่ายแห่งโพธิญาณ หรือธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค หมายถึงหลักธรรมสำหรับผู้ที่ต้องการสำเร็จในขั้นสูงสุดคือ นิพพาน ในบุคคลทั่วไปจะเป็นหลักธรรมที่เกื้อหนุนให้การดำเนินวิถีชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุข มี 37 ประการคือ

1. สติปัฏฐาน 4 คือ 1) การมีสติพิจารณากาย 2) การมีสติพิจารณาเวทนา 3) การมีสติพิจารณาจิตและการมีสติพิจารณาธรรม

2. สัมมัปปธาน 4 คือ 1) เพียรพยายามมิให้บาปอกุศลเกิดขึ้น 2) เพียรพยายามกำจัดบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว 3) การเพียงพยายามทำกุศลให้เจริญ และ 4) เพียรพยายามรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

3. อิทธิบาท 4 คือ 1) มีความพอใจ 2) มีความเพียรพยายาม 3) มีจิตใจฝักใฝ่ 4) มีความคิดพิจารณาไตร่ตรอง

4. อินทรีย์ 5 และพละ 5 คือ 1) มีความเชื่อที่ถูกต้อง 2) มีความเพียร 3) มีความระลึกได้ 4) ความตั้งใจมั่น 5) มีความรู้

5. โพชฌงค์ 7 คือ 1) ความระลึกได้ 2) การสอดส่องเลือกเฟ้นธรรม 3) ความเพียร 4) ความอิ่มใจ 5) ความสงบ 6) ความตั้งใจมั่น และ 7) ความมีใจเป็นกลาง

6. มรรคมีองค์ 8 คือ 1) ความเห็นชอบ 2) ดำริชอบ 3) เจรจาชอบ 4) กระทำชอบ 5) เลี้ยงชีพชอบ 6) พยายามชอบ 7) ระลึกชอบ และ 8) ตั้งจิตมั่นชอบ



วาสนา – บารมี

วาสนา ตามความหมายของพจนานุกรม ฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กล่าว่า วาสนา หมายถึง บุญบารมี, กุศลที่ทำให้ได้รับ หรือลาภยศ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของ สมพร เจริญพงศ์ (2544 : 457) ได้ให้ความหมายไว้ว่า วาสนา หมายถึง คุณความดีที่สั่งสมมา, สิ่งที่ฝังอยู่ในใจ, ความรู้ความความประพฤติที่เกิดติดมาจากชาติก่อน บุญบาปที่อบรมมา จริยาที่ประพฤติจนเคยชิน กุศลให้ถึงซึ่งยศศักดิ์ อำนาจ และเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ (2544 : 1058) ก็ให้ความหมายคล้ายกัน โดยจำแนกออกเป็นข้อ ๆ ดังนี้

1. กุศลที่ทำให้ได้ลาภยศ : คนที่มีวาสนา
2. ความรู้ที่ได้มาจากชาติปางก่อน 
3. ผลบุญหรือบาปที่อบรมมาก่อน
4. กุศลอันที่ทำให้เกิดโชคลาภ : มีโชควาสนา/ไม่มีโชควาสนา

 จากความหมายดังกล่าว สรุปได้ว่า วาสนาก็คือ บุญกุศล ความรู้ที่สะสมไว้ทั้งในชาติปางก่อนและในปัจจุบัน ซึ่งจะตอบสนองต่อบุคคลที่ได้สะสมไว้มากน้อยตามแต่อัตภาพ วาสนาจึงมีลักษณะคล้ายกับผลของกรรม และบารมีที่สะสมไว้และจะตอบสนองในเวลาต่อมา

บารมี คือคุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด เพื่อบรรลุจะหมายอันสูงยิ่ง มี 10 ประการคือ

1) ทานบารมี (บารมีจากการให้ทาน)
2) ศีลบารมี (บารมีจากการประพฤติศีล)
3) เนกขัมมบารมี (บารมีจากการออกบวช, การปลีกออกจากกาม)
4) ปัญญาบารมี (บารมีจากการมีปัญญา)
5) วิริยะบารมี (บารมีจากความเพียร)
6) ขันติบารมี (บารมีจากความอดทน)
7) สัจจบารมี (บารมีจากการมีสัจจะ)
8) อธิษฐานบารมี (บารมีจากความตั้งใจมั่น)
9) เมตตาบารมี (บารมีจากความเมตตา) และ
10) อุเบกขาบารมี (บารมีจากความอุเบกขา)
(พระธรรมปิฎก. 2543 : 136)

 พระพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญบารมีมาถึง 10 ชาติ จนพระชาติสุดท้ายคือ พระเวสสันดร ได้ทรงบำเพ็ญทานบารมี จึงได้บรรลุพระอรหันต์สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระชาติต่อมา


ความหมายและคุณค่าของธรรมะ



ที่มา:http://mediacenter.mcu.ac.th/data/caipyo/m5/web/hungtoom/p1.php


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น